สังเกต 5 พฤติกรรมคุกคามทางเพศ – 3 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกคุกคาม

สังคม
11 ก.ย. 60
12:48
53,250
Logo Thai PBS
สังเกต 5 พฤติกรรมคุกคามทางเพศ – 3 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกคุกคาม
กระแสข่าวหัวหน้างานหรือเจ้านายคุกคามทางเพศลูกน้องมีให้เห็นบ่อยขึ้น แต่พฤติกรรมลักษณะไหนที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศ ไทยพีบีเอสรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้มาให้ศึกษา พร้อมแนะวิธีการที่ผู้ถูกกระทำต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันตัว

คำสั่งข้อปฎิบัติของกระทรวงมหาดไทย ปี 2558 เรื่องมาตราการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ได้ระบุพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ อาทิ

1.การกระทำด้วยสายตา เช่น จ้องมองร่างกาย มองช้อนใต้กระโปรง จ้องมองหน้าอกจนผู้ถูกจ้องรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ จนผู้ที่อยู่รอบข้างรู้สึกเช่นเดียวกัน

2.การกระทำด้วยวาจา เช่น วิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง ทรวดทรงที่ส่อไปในทางเพศ ชักชวนให้กระทำการใดๆ ในที่ลับตา โดยผู้ถูกชักชวนไม่เต็มใจ การพูดเรื่องตลกในเรื่องทางเพศ การพูดจาแทะโลม พูดเรื่องลามก

3.การกระทำทางกาย เช่น การสัมผัสรูปร่างผู้อื่น การลูบคลำการถูไถร่างกายผู้อื่นอย่างมีนัยทางเพศ การฉวยโอกาสกอดรัด การดึงคนมานั่งตัก การตามตื๊อโดยที่อีกฝ่ายไม่เล่นด้วย การต้อนเข้ามุม หรือขวางทางเดิน การส่งจูบ การเลียริมฝีปาก การทำท่าน้ำลายหก การแสดงพฤติกรรมที่สื่อไปในทางเพศโดยใช้มือหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย

4.การแสดงรูปภาพ วัตถุ และข้อความที่เกี่ยวกับทางเพศ รวมถึงการเปิดภาพโป๊ในที่ทำงานหรือคอมพิวเตอร์ของตน การสื่อข้อความรูปภาพสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเรื่องเพศทางอินเตอร์เน็ต เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก

5. การกระทำทางเพศที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น การให้สัญญาที่จะให้ผลประโยชน์เช่นตำแหน่งหน้าที่การงาน ผลการเรียน การให้ทุน การเพิ่มเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การต่อสัญญาการทำงาน โดยการขอให้มีเพสัมพันธ์ด้วยหรือขอให้ทำอย่างอื่นเกี่ยวกับทางเพศ

ขณะที่ในการอบรมขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ แนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาแก่ผู้ถูกคุกคามทางเพศ ดังนี้

1.แสดงอาการไม่พอใจต่อผู้กระทำ เช่น หลีกเลี่ยง เดินหนี หน้าบึ้ง เป็นต้น

2.พูดความรู้สึกไม่พอใจให้บุคคลนั้นรับทราบอย่างจริงใจ เพื่อให้หยุดพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ

3.ในกรณีที่ผู้กระทำเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนพนักงาน ให้จดบันทึกเหตุการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรทันที โดยการจดวันเวลาที่เกิดเหตุ สถานที่ คำบรรยายที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นสั้นๆ รวมทั้งชื่อของพยาน หรือบุคคลที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง หรืออัดเสียงบันทึกภาพ เพื่อเป็นหลักฐานและแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไปเพื่อให้ลงโทษทางวินัย หรือแจ้งผู้ร่วมงานหรือบุคคลอื่นที่ไว้วางใจให้รับทราบ เพื่อช่วยสังเกตพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ที่คุกคามต่อไป

ขณะที่ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการ ล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 กำหนดรูปแบบการกระทำที่เป็นการคุกคามทางเพศในหลายรูปแบบ ไม่ว่าเป็นการกระทำด้วยการสัมผัสทางกายที่ส่อไปในทางเพศ การกระทำด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ การกระทำด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ การแสดงรูปลามกอนาจาร ส่งจดหมาย ข้อความ หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น การแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าผิดวินัยข้าราชการพลเรือน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง