กสทช. ไทย-8 ประเทศอาเซียน จับมือเดินหน้าเก็บภาษี "Facebook - YouTube"

Logo Thai PBS
กสทช. ไทย-8 ประเทศอาเซียน จับมือเดินหน้าเก็บภาษี "Facebook - YouTube"
กสทช. ไทย-8 ประเทศอาเซียน จับมือเดินหน้าเก็บภาษี Facebook / Youtube และ กลุ่ม OTT รายใหญ่-เล็ก ดึง ธปท.ร่วมทำกฏ กำหนดอัตราภาษี ขณะที่แต่ละประเทศ เห็นด้วยคุมเนื้อหาออนไลน์เฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนของแต่ละชาติ

วันนี้ (14 ก.ย.2560) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12-13 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติในหัวข้อ Over the Top (OTT) ซึ่งเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมจากประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศอาเซียน และผู้ให้บริการ OTT เข้าร่วม

 

 

ภายหลังจากการประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือภายในสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Telecommunications Regulators’ Council (ATRC) ถึงภาพรวมของบริการ OTT โอกาสในการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ความท้าท้าย ทิศทางและแนวโน้มในการกำกับดูแล และการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศอาเซียน ผลการประชุมได้ข้อสรุปเป็นหลักการในเบื้องต้นที่จะดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมและรองรับการให้บริการ OTT ในภูมิภาคอาเซียน 3 ประการ ได้แก่

 

1. การส่งเสริมและกำกับดูแลระหว่างอุตสาหกรรมและระหว่างองค์กรกำกับดูแลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศในด้านภาษี

2. การสร้างสภาวะการแข่งขันที่เหมาะสมและเท่าเทียมกันในการให้บริการ OTT ระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกับผู้ให้บริการ OTT และระหว่างผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่กับรายเล็ก

3. การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้ากันได้ของระบบต่างๆ จะเน้นเรื่องเนื้อหาที่นำมาให้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย โดยหลังจากนี้จะนำหลักการดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ATRC เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ในระหว่างนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถจะดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าว และกฎหมายของประเทศตัวเองได้

 

นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จะนำหลักการดังกล่าวมาดำเนินการส่งเสริมและรองรับการให้บริการ OTT ของประเทศไทยใน 3 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1. นโยบายด้านภาษี โดย สำนักงาน กสทช. พร้อมเป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อให้สินค้าและบริการ OTT ที่มีรายได้จากการให้บริการในประเทศไทยดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ หรือแนวปฏิบัติด้านภาษีอากรของประเทศไทย

2. การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ในส่วนของการเผยแพร่ผ่านบริการ OTT ประเภทการสื่อสารผ่าน Social Network และการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมายของประเทศไทย โดยจะใช้วิธีการขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการ OTT ออกแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ในเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทย

3. การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน อย่างกรณีผู้ให้บริการ OTT ที่มาลงทะเบียนกับผู้ให้บริการที่ไม่มาลงทะเบียน และกรณีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งถูกกำกับดูแลด้วยกฎระเบียบต่างๆ ในขณะที่ผู้ให้บริการ OTT ยังไม่ถูกกำกับดูแล โดยสำนักงาน กสทช. สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันสำหรับการประกอบกิจการของผู้ให้บริการ OTT ในปัจจุบัน รวมถึงบริการ OTT ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการ OTT หรือสามารถแข่งขันในการประกอบกิจการกับผู้ให้บริการ OTT บนกฎ กติกา เดียวกัน และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลาย จะไม่มีการปิดกั้นบริการ OTT ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“สำหรับหลักการดังกล่าวนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำส่งให้คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ที่มีรองประธาน กสทช. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน เพื่อนำไปประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเดือนตุลาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ยังเห็นด้วยกับแนวทางการคุมคุมเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนและไม่เหมาะสม เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงปัจจุบัน เนื้อหาบางลิ้งค์ URL ที่ถูกนำเสนอผ่านช่องทาง Facebook ,Youtube,Google ส่งผลกระทบต่อศีลธรรมและความมั่นคงของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย พบการเผยแพร่ที่ส่งผลกระทบด้านศาสนาผ่านเกมส์เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่มีการเผยแพร่เกมส์ ด้วยการนำตัวการ์ตูนพระพุทธเจ้า กับ พระเยซู มาต่อสู้กัน ประเทศเวียดนาม และสิงคโปร์ เกิดปัญหาการวิจารณ์การเมืองและรัฐบาลรุนแรง
ส่วนประเทศไทย พบปัญหากรณีหมิ่นสถาบัน และเว็บไซด์ไม่เหมาะสม

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของแต่ละประเทศ แต่ผู้ให้บริการที่เป็นประเทศมหาอำนาจและมีความเสรี อาจไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของอาเซียน ซึ่งหลายครั้ง เมื่อขอให้ถอดลิ้งค์ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้ กสทช.หลายประเทศยืนยันต้องควบคุมเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ โดยอาจพิจารณาเสนอที่ประชุมอาเซียนใหญ่เพื่อ ออกเป็นกฏบัตรอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง