"ไทย-สหรัฐฯ" ภาพลักษณ์สัมพันธ์ชาติมหาอำนาจ

การเมือง
29 ก.ย. 60
18:04
394
Logo Thai PBS
"ไทย-สหรัฐฯ" ภาพลักษณ์สัมพันธ์ชาติมหาอำนาจ
คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังว่าการเยือนสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะแถมด้วยการซื้ออาวุธด้วย ผู้นำที่มาจากภาคธุรกิจอย่างโดนัล ทรัมป์ เคยเจรจาขายอาวุธให้หลายประเทศมาแล้ว มองในเชิงการรักษาสมดุลกับมหาอำนาจอาจจะมีข้อดี เพราะก่อนหน้านี้ไทยซื้ออาวุธจากจีนมาแล้ว

วันนี้ (29 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้นำอาเซียนคนที่ 3 ที่จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในปีนี้ นอกเหนือจากผู้นำมาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งนอกจากความร่วมมือที่ตามมาในด้านต่างๆ แล้ว ยังจบลงที่ทั้ง 2 ชาติได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หัวข้อหลักของการหารือจะอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน ตามคำยืนยันของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต่อสายตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือกับไทยมากยิ่งขึ้น หลังความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ห่างเหินกันนับแต่รัฐบาล คสช.เข้าบริหารประเทศ แต่ยอมรับว่าการเยือนครั้งนี้ อาจมีการพูดคุยถึงการพัฒนาศักยภาพกองทัพ

รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านความมั่นคงและนานาชาติ กล่าวว่า เชื่อว่าหัวข้อหลักที่สหรัฐฯ จะหารือกับไทย น่าจะเป็นประเด็นความร่วมมือในกรณีเกาหลีเหนือ ที่สหรัฐฯ ต้องหาพวกหรือเพื่อนในอาเซียน รวมถึง ดุลทางการค้าที่ไทยได้เปรียบสหรัฐฯ ความร่วมมือด้านปัญหาก่อการร้าย และถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะสร้างดุลยภาพสัมพันธภาพระหว่างประเทศมหาอำนาจ แต่ต้องเตรียมใจ เพราะการหารือครั้งนี้ย่อมมีทั้งได้และเสีย แต่ไทยต้องไม่ผลีผลามและเดินหน้าเพื่อประโยชน์สูงสุดของไทย

รศ.ฐิตินันท์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าหลังเสร็จสิ้นการหารือครั้งนี้ นานาประเทศทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งนับแต่เหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งแน่นอนว่าการหารือต่างฝ่ายต่างต้องการผลที่วิน วิน หรือได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ผลจะเป็นอย่างไร อยู่ที่เทคนิคการพูดคุยของผู้นำทั้ง 2 ชาติ ซึ่งคนหนึ่งมาจากนักธุรกิจ ขณะที่อีกคนมาจากนายทหาร

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง