เปิด "ระบบเตือนภัย" ของประเทศไทย

ภัยพิบัติ
17 ต.ค. 60
21:31
2,594
Logo Thai PBS
เปิด "ระบบเตือนภัย" ของประเทศไทย
เหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วมของวันที่ 13-14 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนตั้งคำถามถึงระบบการเตือนภัย ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้รับการแจ้งเตือนแต่อย่างใด นักวิชาการจึงเรียกร้องให้ไทยมีระบบเตือนภัยที่ดี

วันนี้ (17 ต.ค.2560) นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงขึ้นตอนการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จะมีเจ้าหน้าที่ทำงานตรวจวัดสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง หากพบกลุ่มฝนหรือความผิดปกติ จะแจ้งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบอกได้แค่ว่ากลุ่มฝนที่เคลื่อนผ่านมาเป็นกลุ่มฝนแบบไหน แต่บอกไม่ได้ว่าจะมีฝนตกลงมามากเท่าไร และนานแค่ไหน

“กรมอุตุฯ จะประสานกับ กทม.แจ้งเมื่อมีกลุ่มฝนเข้ามา กทม.ก็มีเรดาร์วัดกลุ่มฝนเช่นกัน ข้อมูลเหล่านี้มีการแลกเปลี่ยนกัน กทม.จะเตรียมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ กรณีวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนเยอะมาก ภายใน 2 ชั่วโมง มีน้ำฝน 100-200 มม.มันเกินศักยภาพของท่อน้ำใน กทม.จริงๆ จึงเกิดน้ำท่วมขังค่อนข้างใหญ่” นายวันชัย ระบุ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้รถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม เฉพาะเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีมากถึง 3,155 คัน มูลค่าความเสียหายกว่า 45 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมความเสียหายตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ จึงเป็นเหตุผลให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบเตือนภัยน้ำท่วม

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน ระบบเตือนภัยน้ำท่วมของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีขั้นตอนดังนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาจะทำให้หน้าที่ให้ข้อมูลสภาพอากาศกับหน่วยงานและประชาชน จากนั้นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะทำหน้าที่ประเมินข้อมูลน้ำท่วมและประกาศเตือนภัย จากนั้นหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กทม. หรือ เทศบาลในจังหวัดต่างๆ และกรมชลประทาน จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลเตือนภัยไปให้ถึงท้องถิ่นและชุมชน

 

 

นักวิชาการหลายคนให้ข้อมูลว่า การสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งการเตือนภัยล่วงหน้า ควรมีหลายระยะ 1.ให้ข้อมูลความรู้ เพื่อเตรียมการรับมือได้อย่างต่อเนื่อง 2.เฝ้าระวัง นักวิชาการและหน่วยงานต่างๆ ควรให้ความรู้กับประชาชนว่ากำลังมีความเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้เตรียมตัวรับมือได้ทัน ซึ่งระยะนี้อาจจะเกิดเหตุหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นระยะเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัย 3.เตือนภัยเมื่อหน่วยงานมีความมั่นใจว่าจะเกิดเหตุมากขึ้นจึงจะเป็นผู้ประกาศเตือนภัย 4.การเตือนภัยฉุกเฉิน ถ้าคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุที่สร้างความเสียหายรุนแรง

ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย กล่าวว่า ฝนที่ตกในวันที่ 13 ต.ค.เป็นการตกแช่และตกนาน 6 ชั่วโมงต่อเนื่อง การพยากรณ์อากาศกระพริบตาไม่ได้ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

“ผมเห็นใจว่าเครื่องมือจะต้องลงทุนเพิ่ม จะต้องปรับเทคโนโลยีเตือนภัยให้แม่นยำขึ้น ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค.จะเกิดซ้ำและหนักขึ้น”

ขั้นตอนการเตือนภัยประเทศญี่ปุ่น

ขั้นตอนการเตือนภัยของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น จะมีระดับเฝ้าระวังซึ่งเป็นการให้ข้อมูลความเสี่ยงในขณะนั้นกับประชาชน เพื่อประกอบการตัดสินใจเตรียมการรับมือ จากนั้นเมื่อจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงจะมีการประกาศเตือนภัย ถ้าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงมาก เช่น จะเกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบ 50 ปี จะเป็นการประกาศเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อการอพยพหรือรับมือขั้นตอนต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง