ชาวตรังเรียกร้อง "บิ๊กกรมอุทยาน" ชี้แจงกินเนื้อพะยูน

สิ่งแวดล้อม
18 ต.ค. 60
11:54
2,175
Logo Thai PBS
ชาวตรังเรียกร้อง "บิ๊กกรมอุทยาน" ชี้แจงกินเนื้อพะยูน
ผู้ว่าฯ ตรังฉุน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช กล่าวหากินเนื้อ ล่าเขี้ยวฆ่าพะยูน สวนทางกับกลุ่มนักอนุรักษ์ทำงานอย่างเข้มแข็ง จี้นายธัญญา นำหลักฐานผลตรวจการล่อซื้อเนื้อพะยูนและลงมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับชาวตรัง

วันนี้(18 ต.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาเปิดเผยสถานการณ์วิกฤตของพะยูน ที่มีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ สาเหตุเพราะถูกล่าเอาเนื้อไปขาย กระดูกไปทำยาโด๊ป รวมถึงได้รับอันตรายจากเครื่องมือประมง สร้างความไม่พอใจกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเท่านั้น ท่าทีของนักอนุรักษ์ที่ทำงานอนุรักษ์พะยูน ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจเช่นกัน โดยยืนยันว่าจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดเดียวที่ยังมีการอนุรักษ์พะยูนอย่างเข้มแข็ง และไม่เห็นด้วยที่กรมอุทยานออกมาให้ข่าวในลักษณะเช่นนี้เพราะทำให้จังหวัดตรังเสียหาย


เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง ไม่เห็นด้วยต่อกรณีนายธัญญา  ให้ข้อมูลว่ามีขบวนการล่าพะยูนส่งขายในตลาดมืด เพื่อนำเนื้อไปทำอาหารขาย ส่วนกระดูก เขี้ยว ไปทำเครื่องรางของขลังยังคงมีอยู่และรุนแรง และเป็นต้นเหตุให้ประชากรพะยูนลดลงทั้งประเทศเหลือไม่ถึง 200 ตัว

ซึ่งเห็นว่าเป็นการรับฟังข้อมูลมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง และที่สำคัญสวนทางกับข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งเป็นสถิติการสำรวจพะยูนในแต่ละปี ที่พบว่าประชากรพะยูนในทะเลตรัง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีประมาณ 120 ตัว ล่าสุดสำรวจในปีนี้พบประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ตัว

 


นายแสวง ขุนอาจ กรรมการสมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพะยูนลดลงเหลือเพียง 120 ตัว แต่หลังจากมีการรณรงค์ มีการตั้งชุดเฉพาะกิจ และข่าวปัญหาพะยูนติดเครื่องมือประมงตาย ทำให้ชาวบ้านต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง กระทั่งข้อมูลในปี 2560 จากพะยูน 120 ตัวตอนนี้เพิ่มเป็น 200 ตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


ขณะที่นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เห็นว่า หากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มล่าพะยูนที่แท้จริง ก็สามารถแจ้งมายังจังหวัดได้โดยตรง และไม่ควรให้ข่าวกับสัง คมเพียงด้านเดียว จึงขอความเป็นธรรมให้กับคนจังหวัดตรังด้วย เนื่องจากคนในพื้นที่ได้ดูแลพะยูนอย่างดีที่สุดแล้ว

ขอให้ความเป็นธรรม เพราะคนตรังช่วยดูแลพะยูน และเป็นจังหวัดที่มีพะยูนมากที่สุดอาศัยในทะเล และชาวตรังภูมิใจที่ดูแลพะยูนได้ดีที่สุด และต่อสู้กับคนที่เห็นแก่ตัวและเห็นแต่ประ โยชน์ เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้อยากให้อธิบดีกรมอุทยานเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาชี้แจง ให้ความเป็นธรรมกับคนตรัง 

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม เครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านทั้ง 44 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอของจังหวัดตรัง เรียกร้องให้นายธัญญา แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันเตรียมเรียกประชุมกลุ่มอนุรักษ์มูลนิธิอันดามัน และสมาชิกชมรมประมงพื้นบ้านกำหนดวันให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ลง พื้นที่มาชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง พร้อมให้นำหลักฐานมาแสดงเพราะเรื่องดังกล่าวสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ชาวจังหวัดตรัง อาจถูกมองว่าการทำงานด้านการอนุรักษ์ล้มเหลว ยังปล่อยขบวนการล่าพะยูนให้มีอยู่

ก่อนหน้านี้นายธัญญา  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์พะยูนในประเทศไทยว่าจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเล โดยเฉพาะพะยูนที่อยู่ในเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ที่มีประมาณ 130-150 ตัว เนื่องจากกลุ่มผู้ล่าพะยูนต้องการนำกระดูก เขี้ยว และเนื้อของพะยูนไปจำหน่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ทช.เตรียมสำรวจพะยูนทะเลตรังรอบใหม่ปี 2561

ทช.เผยข่าวดีผลสำรวจ“พะยูน”ทะเลตรังพบ 169 ตัว 

ชาวประมง จ.ตรัง ช่วยพะยูนเกยหาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง