สปส.ยันปรับฐานคำนวณเงินสมทบ ไม่กระทบคนส่วนใหญ่

สังคม
31 ต.ค. 60
12:32
195
Logo Thai PBS
สปส.ยันปรับฐานคำนวณเงินสมทบ ไม่กระทบคนส่วนใหญ่
กรณีมีเสียงคัดค้านการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน สปส.ยืนยันว่าการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพและสภาวะเศรษฐกิจ และผู้ประกันตนส่วนใหญ่ที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทจะไม่ได้รับผลกระทบ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงถึงกรณีการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน โดยระบุว่า เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพและสภาวะเศรษฐกิจและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้งใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยในการปรับฐานเพดานค่าจ้าง จาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

สำหรับประเด็นที่ผู้นำแรงงานคัดค้าน อาจเป็นเพราะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เข้าใจผิดว่าผู้ประกันตนทุกคนจะได้รับผลกระทบ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมยืนยันว่า ยังคงเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างเท่าเดิม

ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท ยังคงจ่ายเงินสมทบเท่าเดิมและไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนของผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้าง 16,000 จ่ายเงินสมทบ 800 บาท, ค่าจ้าง 17,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 850 บาท, ค่าจ้าง 18,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 900 บาท, ค่าจ้าง 19,000 บาทจ่าย 950 บาท และค่าจ้าง 20,000 บาทขึ้นไป จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาทต่อเดือน

ส่วนกรณีการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ขณะนี้ดำเนินการประชาพิจารณ์ไปแล้ว 6 ครั้ง จากทั้งหมด 12 ครั้ง โดยในวันนี้ (31 ต.ค.2560) จัดครั้งที่ 7 ที่ จ.ขอนแก่น สำหรับข้อคิดเห็นทั้งหมด 12 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจะนำมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า วันที่ 4 พ.ย.2560 คปค.จะหารือร่วมกับเครือข่ายแรงงานต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการขยายอายุรับเงินบำนาญ การเพิ่มเงินสมทบ และการเลือกตั้งบอร์ด สปส. เนื่องจากเป็นประเด็นที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่

โดยการเลือกตั้งบอร์ด สปส. ถือเป็นทางเลือก เพราะจะทำให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบอร์ดและมีโอกาสพูดถึงปัญหา โดย คปค.ได้เสนอแนวทางในการเลือกตั้งใหม่ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปแล้ว ซึ่งทราบว่าขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของอนุกรรมการยกร่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ด สปส.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง