หรือเพราะแค่ "ไร้สัญชาติ" โอกาสจึงเป็นแค่ความฝัน

10 พ.ย. 60
16:14
13,322
Logo Thai PBS
หรือเพราะแค่ "ไร้สัญชาติ" โอกาสจึงเป็นแค่ความฝัน
ความเป็นบุคคลไร้สัญชาติ แม้จะเกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินไทย จนเรียนจบ สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่ "น.ส.เพ็ญพร -"กลับก้าวไม่ถึงฝัน เรื่องราวของเธอคือหนึ่งในตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นและยังไร้ทางออก

“น.ส.เพ็ญพร - " อดีตนักศึกษา สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก หรือ น้องเพียว ปัจจุบันทำงานฝ่ายวิจัยขององค์กรเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก จังหวัดบ้านเกิดของเธอ เรื่องราวของเธออาจดูปกติเหมือนบุคคลทั่วไป แต่หากพิจารณาให้ดี ชื่อของเธอ ปราศจากนามสกุล เหตุเพราะเธอเป็น “บุคคลไร้สัญชาติ” ซึ่งปัญหาที่เธอต้องพบเจอคือ อุปสรรคและการขาดโอกาสที่สำคัญในชีวิตของเธอในหลายครั้ง ทั้งการไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยอาการสาหัส หรือ โอกาสรับทุนการศึกษา หรือการเข้าทำงานในโรงพยาบาล แม้ว่าความประพฤติ และผลการเรียนของเธอจะอยู่ในระดับดีมากมาโดยตลอด

เกิดบนแผ่นดินไทยแต่ยังไร้การรับรอง

น.ส.เพ็ญพร เล่าว่า ที่ผ่านมาการเป็น “บุคคลไร้สัญชาติ” ของเธอ ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหามากนัก นับตั้งแต่ครอบครัวของเธอย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย ใน อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ 35 ปีก่อน และต่อมาเธอก็ได้ถือกำเนิดบนแผ่นดินไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน โชคดีของเธอ โดยพ่อของเธอทำงานซ่อมเครื่องยนต์ให้กับเจ้าของอู่รถซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ตาก จึงทำให้เธอได้รับโอกาสทางการศึกษา ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้เรียนในโรงเรียนแห่งนี้ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีผลการเรียนดีด้วยเกรดเฉลี่ย 3.98 ผ่านการชนะการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เธอได้สูติบัตร


ตอนเด็กบัตรใบแรกที่เราได้เป็นบัตรขาว ซึ่งมีข้อมูลของเรา เราดีใจมากๆ ตลอดเวลาที่เราเรียนเพื่อน และครูก็ช่วยเหลือในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อครั้งไปประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ และเมื่อนายกเทศมนตรีมาที่โรงเรียนเพื่อนก็ช่วยพูดให้ในการเดินหน้าของสูติบัตร แต่ทุกครั้งที่เราทำกิจกรรมอะไรก็จะเป็นที่รู้จักเพราะพิธีกรจะอ่านแค่ชื่อ โดยไม่มีนามสกุล น.ส.เพ็ญพร กล่าว

“ถ้าพูด-อ่าน ภาษาไทยได้เธอก็เรียนได้”

น.ส.เพ็ญพร เล่าว่า เมื่อจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอได้สอบเข้าคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งเธอมีความกังวลใจในการเข้าเรียนแม้ว่าคะแนนของเธอจะเพียงพอต่อสมัครเข้าเรียนในคณะดังกล่าว แต่ด้วยสถานะคนไร้สัญชาติอาจจะเป็นปัญหา แต่ขณะเข้าสอบสัมภาษณ์อาจารย์ผู้คัดเลือกก็รับเธอเข้าเรียนเนื่องจากเชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม

ถ้าเธอพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้ ก็ควรได้เรียน และมีสิทธิ์สอบใบประกอบโรคศิลป์” น.ส.เพ็ญพร ย้อนอดีตให้ฟัง


แต่ด้วยการเป็นคนไร้สัญชาติ รวมถึงพลาดโอกาสในการกู้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทยจึงต้องขอทุนอื่นโดยเธอได้ทุนให้เปล่าจากองค์กรเอกชนเทอมละ 15,000 บาท ปีละ 30,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นก็ต้องพึ่งพาทางบ้าน รวมถึงการเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนเรศวร นักศึกษาทุกคนต้องย้ายชื่อเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเข้าพักในหอในและใช้สิทธิรักษาสุขภาพของมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเธอไม่มีสัญชาติไทย


ตอนเรียนปี 1 ต้องไปขออนุญาตกับทางอำเภอแม่สอด ในการออกนอกพื้นที่ ซึ่งต้องต่อทุก 6 เดือน แต่เมื่อปี 2 – 4ทางอำเภอได้ออกใบรับรองให้เพื่อใช้ตลอดการเรียน ซึ่งทุกครั้งที่เดินทางก็จะมีบัตรสีชมพูและใบรับรองการออกนอกพื้นที่ของคนต่างด้าวติดตัวโดยตลอด หากไปกับทางคณะหรือหน่วยงานก็ไม่เป็นไร แต่หากเดินทางส่วนตัวก็ต้องมีไว้ให้ตรวจสอบ  น.ส.เพ็ญพร ระบุ


ตลอดการเรียนเธอมีพฤติกรรมที่ดี ผลการเรียนดี และได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งทำให้เธอมีสิทธิ์ที่จะได้เข้าโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งเป็นทุนให้กับนักศึกษาที่เรียนดี ความประพฤติดี เพื่อผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกเพิ่ม ซึ่งเมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เทอมหนึ่ง ทางคณะก็รับรู้แล้วว่า น.ส. เพ็ญพร ควรที่จะได้รับโอกาสนี้และเมื่อเรียนจบระดับปริญญาเอกก็สามารถกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่อได้

 

 

 

หมดโอกาสการเรียน-อาชีพ

แต่โอกาสทางการศึกษาครั้งนี้ก็ต้องยุติลงเนื่องจากติดที่ปัญหาคือ “การไม่มีสัญชาติไทย” ซึ่งเป็นเงื่อนไขแรกในการขอรับทุนดังกล่าวจึงทำให้ เธอเลือกที่จะทำงานในองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรแทนและหวังที่จะแบ่งเบาภาระของพ่อแม่

เรารู้อยู่แล้วว่า น้องเพ็ญพรมีสิทธิ์ที่จะขอรับทุนได้เพราะเมื่อขึ้นปี 4 จึงเรียกน้องมาคุย น้องก็ลังเล แต่คุณสมบัติของน้องที่เข้าเงื่อนไขทุกอย่างที่ทางคณะพร้อมสนับสนุนและช่วยในการขอรับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก โดยเราหวังว่าหากได้ก็จะมีบุคลากรที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกคน แต่สุดท้ายติดเงื่อนไขสำคัญคือ การไม่มีสัญชาติไทย น้องจึงเลือกที่จะทำงานแทน

ผศ.ดร.ทนพ.สราวุธ คำปวน อาจารย์ประจำสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงการเสียโอกาสสำคัญของนักศึกษา เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง พร้อมอธิบายว่า น.ส.เพ็ญพร เป็นที่รักของครูอาจารย์และเพื่อน ความประพฤติดี การเรียนดี และเมื่อ น.ส.เพ็ญพร ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลก็ติดต่อมาว่าจะขอรับ น.ส.เพ็ญพร เข้าทำงาน แต่ก็ไม่สามารถรับได้เนื่องจากติดปัญหาเดิมคือ "การไม่มีสัญชาติ"

ตอนไปฝึกงาน น้องทำได้ดีมากทั้งทำงานดี สื่อสารได้หลายภาษาทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมา และภาษากะเหรี่ยง และมีความเรียบร้อย และที่โรงพยาบาล ก็พร้อมที่จะเปิดตำแหน่งให้น้องเข้าทำงานแต่ติดปัญหาเรื่องสัญชาติ จึงต้องเสียโอกาสตรงนี้ไปอีก ผศ.ดร.ทนพ.สราวุธ ระบุ

ช่องโหว่ของสัญชาติล่าช้า

น.ส.เพ็ญพร บอกว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่คิดว่าเรื่องการขอสัญชาติจะมีผลกระทบมากนัก ประกอบกับการเรียนที่ค่อนข้างหนัก แม้จะเดินเรื่องเพื่อขอสัญชาติไปแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมาเริ่มติดตามจริงจังในช่วงปี 2558 หลังจบการศึกษา โดยเดินเรื่องด้วยตนเอง ด้วยการขอใบตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เพื่อยื่นขอสัญชาติพร้อมกับ สูติบัตร สำเนาบัตร และใบ ทร.4 (ทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย )

 

แต่การขอใบตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก็ไม่ได้ง่ายนัก เมื่อ น.ส.เพ็ญพร ยื่นเอกสารและเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี ก็ยังไม่ได้รับผลรับรอง เมื่อเธอสอบถามเข้าไป เจ้าหน้าที่แจ้งให้ยื่นเอกสารใหม่ โดยครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น จากนั้นเธอจึงนำเอกสารการขอสัญชาติไทยยื่นไปยังที่ว่าการอำเภอแม่สอดเพื่อให้คณะกรรมการลงมติ แล้วส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่ออนุมัติเรื่องไปยังกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาให้สัญชาติไทยในขั้นตอนสุดท้าย 


น.ส.เพ็ญพร ยังเล่าว่า ที่ผ่านมาการเดินทางไปยังจังหวัดอื่นนอกภูมิลำเนา เธอต้องขอหนังสือรับรองการเดินทางออกนอกพื้นที่ เนื่องจากเธอถือบัตรสีชมพู ซึ่งการเดินทางเฉกเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไปที่ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับเธอกลับไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเรื่องสำคัญ เช่น การเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยอาการสาหัสที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ต้องให้ทางโรงพยาบาลของผู้ป่วยออกหนังสือเพื่อรับรองการเดินทาง จึงทำให้ในที่สุดเธอไม่สามารถไปเยี่ยมเพื่อนได้

ทำงานเอ็นจีโอ สร้างประโยชน์ได้

ปัจจุบัน น.ส.เพ็ญพร ได้ทำงานที่องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งหนึ่ง ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งแม้ว่าเธอจะไม่ได้ทำงานในสายงานที่ร่ำเรียนมาโดยตรงแต่การทำงานในองค์กรแห่งนี้ เปิดโอกาสให้เธอได้สร้างประโยชน์กับผืนแผ่นดินไทยเช่นเดียวกัน แม้จะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย สำหรับเธอก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว


ขอสัญชาติ รายละเอียดมาก


ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กระบวนการขอสัญชาติ มีขั้นตอนและความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ในแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ที่จะยื่นขอสัญชาติสามารถยื่นรายละเอียดได้ที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอคำปรึกษาและดำเนินการได้...

 

เรื่อง : เฉลิมพล แป้นจันทร์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง