"โคทม" เสียดายว่าที่ กกต.ไร้ตัวแทนภาคประชาสังคม

การเมือง
7 ธ.ค. 60
11:47
202
Logo Thai PBS
"โคทม" เสียดายว่าที่ กกต.ไร้ตัวแทนภาคประชาสังคม
คณะกรรมการสรรหาลงมติคัดเลือกว่าที่ กกต.5 คนไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยอีก 2 คน มาจากมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา รวมเป็น 7 คน ขณะที่นายโคทม อารียา อดีต กกต.แสดงความเสียดาย ว่าที่ 5 กกต.ขาดตัวแทนภาคประชาสังคม

วันนี้ (7 ธ.ค.2560) นายโคทม อารียา อดีต กกต.เปิดเผยว่า ได้เห็นรายชื่อว่าที่ กกต.5 คนที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานแล้ว เสียดายที่ไม่มีรายชื่อของตัวแทนภาคประชาสังคม ทั้งที่มีคนที่ผ่านเกณฑ์เข้าสู่รอบสัมภาษณ์ถึง 3 คนด้วยกัน และไม่รู้เจตนาของการเลือก กกต.ครั้งนี้ ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องยอมรับว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะทำงานได้ดีหรือไม่ ยังต้องรอพิสูจน์จากผลงาน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ตัดสินให้ผู้เข้ารับการสรรหาคนใด ขาดคุณสมบัติ ได้ยึดหลักคำชี้แจงของ กรธ.และความเห็นของสมาชิกในที่ประชุม สนช.ที่พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกษม เกษมปัญญา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหา และถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ ได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการสรรหา ขอให้คณะกรรมการสรรหา กกต.พิจารณาทบทวนคุณสมบัติใหม่

หลังคณะกรรมการสรรหาฯ ชี้ว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 วงเล็บ (ก) เพราะที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ภาค 1 และอดีตประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา จึงเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีศาล แต่การที่คณะกรรมการสรรหาฯ ตีความว่าต้องดำรงตำแหน่งเฉพาะอธิบดีในหน่วยงานราชการเท่านั้น เป็นการตีความอย่างแคบ

ส่วนว่าที่ กกต.อีก 2 คน สัดส่วนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ล่าสุด เมื่อวานนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงมติเลือกนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต.เพิ่มเติมอีก 1 คน จากเดิมที่เคยมีมติเลือกนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต.ไปแล้วในการลงมติรอบแรก

โดยรายชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน จะถูกส่งไปยัง สนช.ซึ่งจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบคุณสมบัติ และความเป็นกลางทางการเมือง ก่อนให้ที่ประชุม สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน นับจากที่คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งชื่อมาให้ แต่หาก สนช.ไม่เห็นชอบใคร เพราะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ต้องส่งรายชื่อกลับไป เพื่อสรรหาใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง