จับตา "รัฐธรรมนูญ" แฝง "อำนาจนิยม"

การเมือง
13 ธ.ค. 60
11:52
460
Logo Thai PBS
จับตา "รัฐธรรมนูญ" แฝง "อำนาจนิยม"
85 ปี นับแต่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด หรือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 แล้ว แต่การเมืองไทยตลอด 85 ปีที่ผ่านมา ต่างต้องเผชิญกับปัญหา จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ ไปได้

วังวนเดิมๆ ที่ผู้เข้าร่วมวงเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ "ทางออกจากวังวนอำนาจนิยม : ระบบรัฐธรรมนูญนิยมประชาธิปไตย" ต่างยอมรับตรงกัน คืออำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญ แม้ข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะแตกต่างกันออกไปและเจตนารมณ์ที่สับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ไม่เพียงแต่ฝ่ายการเมืองต่างขั้ว คสช.อย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เท่านั้น ที่วิพากษ์เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หากแต่นักวิชาการ ทั้ง รศ.ยุทธพร อิสรชัย จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายเซม วรายุเดช จาก University of New England ประเทศออสเตรเลีย ต่างก็เห็นตรงกัน ถึงเจตนาที่แฝงอยู่ คือการคงไว้ซึ่งอำนาจของกลุ่มบุคคล ในนาม คสช. อันเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ หลังเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร หรือแม้แต่การเมืองไทย หนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ ที่หมายถึงการเมืองในแบบอำนาจนิยม

วงเสวนา ทางออกจากวังวนอำนาจนิยม : ระบบรัฐธรรมนูญนิยมประชาธิปไตย" ยังสะท้อนตรงกัน ถึงสาเหตุหลักของอำนาจนิยม ซึ่งยังคงอยู่ในสังคมการเมืองไทย เป็นผลจากข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ ไม่เพียงแต่เจตนาในการปูทางสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการจัดวางดุลอำนาจ ทั้งดุลอำนาจในระบบรัฐสภา และดุลอำนาจของภาคประชาชน ที่ขาดความสมบูรณ์ และไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเกิดปัญหาในระบบรัฐสภาแล้ว ยังเป็นชนวนเหตุของวิกฤตบ้านเมืองในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาและไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่

วงงเสวนา ยังเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขาดการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน เพราะแม้จะผ่านความเห็นชอบในขั้นตอนการทำประชามติ หากแต่ดุลยพินิจในการยกร่าง เป็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เท่านั้น จึงนำมาซึ่งข้อบัญญัติที่เอื้อต่อ คสช. ทั้งการรองรับในอำนาจ ตลอดจนการกำหนดโครงสร้างทางการเมือง อันนำไปสู่อำนาจคู่ขนาน หรือรัฐบาลคู่หลังการเลือกตั้ง

นอกจากปัญหาอันสืบเนื่องจากตัวบทกฎหมายแล้ว นักวิชาการ และฝ่ายการเมือง ยังชี้ว่า ค่านิยมของคนในสังคม ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการคงอยู่ของอำนาจนิยมในสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะการยอมรับ หรือไม่ปฏิเสธ ในการเข้าถือครองอำนาจของกลุ่มบุคคล หรือการก่อรัฐประหาร ด้วยการปลูกฝังทัศนคติ ว่าเป็นหนทางของการคลี่คลายความขัดแย้ง-เห็นต่าง หรือการบริหารประเทศอันล้มเหลวของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้เพื่อเป็นการขจัดหลักอำนาจนิยมและสร้างระบบรัฐธรรมนูญนิยม อันเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์นั้น วงเสวนาได้สะท้อนข้อเสนอที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากการให้ความรู้ สร้างค่านิยม ปรับทัศนคติของคนในสังคมไทย ไม่ให้ยอมรับในการใช้อำนาจทางการเมืองนอกระบบ ,การสร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ด้วยกลไกการมีส่วนร่วม ตลอดจนการจัดดุลอำนาจให้เหมาะสมแล้ว ยังเห็นว่า จำเป็นต้องยับยั้งการปูทางสืบทอดอำนาจ เพื่อให้สังคมการเมืองไทย หลุดพ้นจากวังวนเดิมๆนั้นด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง