"...เพราะความซึมเศร้าจนเกินไป" จดหมายก่อนตาย "สารวัตรป๊อป"

อาชญากรรม
25 ธ.ค. 60
11:28
6,329
Logo Thai PBS
"...เพราะความซึมเศร้าจนเกินไป" จดหมายก่อนตาย "สารวัตรป๊อป"
พล.ต.อ.จักรทิพย์ สั่งสอบสวนหาสาเหตุสารวัตรป๊อป ยิงตัวตายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแม้ในที่เกิดเหตุจะพบจดหมายที่เจ้าตัวเขียนทิ้งไว้ว่า น่าจะเกิดจากภาวะซึมเศร้า ขณะที่กรมสุขภาพจิต ชี้วัยรุ่นไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 3 ล้านคน

วานนี้ (24 ธ.ค.2560) ตำรวจพิสูจน์หลักฐานและพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เข้าตรวจสอบภายในอาคารสำนักงานกำลังพล อาคาร 5 บริเวณชั้น 7 ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากได้รับแจ้งมีตำรวจใช้ปืนยิงตัวเองเสียชีวิต เบื้องต้นจากการตรวจสอบ พบผู้เสียชีวิต คือ พ.ต.ต. สหัสวรรษ พันธ์เกตุ หรือสารวัตรป๊อป สารวัตรฝ่ายแต่งตั้งกองทะเบียนพล สำนักงานกำลังพล ในที่เกิดเหตุพบจดหมายเขียนด้วยลายมือ ว่า "ขออโหสิกรรมให้ด้วยครับ เพราะความซึมเศร้าจนเกินไป" และปืนขนาด 9 มม. ตกใกล้ตัวข้างเตียงนอน ที่ผู้เสียชีวิตใช้พักค้างอยู่ในห้องดังกล่าว

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ต.ต.สหัสวรรษ เป็นตำรวจที่ทำงานดีมาก และได้เลื่อนขึ้นตำแหน่งสารวัตรนำเพื่อนในรุ่น นรต.63 ส่วนสาเหตุน่าจะเกิดจากเรื่องซึมเศร้า มาจากหลายสาเหตุทั้งสภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ พ.ต.ต.สหัสวรรษก่อเหตุยิงตัวตายไม่ได้บอกใคร ทำไปโดยไม่รู้สึกตัวหรือขาดสติ

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังได้รับรายงาน ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบหาสาเหตุและทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ พร้อมฝากแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพ.ต.ต.สหัสวรรษ โดยทราบว่าพ.ต.ต.สหัสวรรษ เพิ่งทำงานได้ประมาณ 1 ปี และมีความตั้งใจในการทำงานมาก เป็นนายตำรวจที่อนาคตไกล พร้อมกันนี้ จะดูแลเรื่องสวัสดิการ และเงินช่วยเหลือกับครอบครัวอย่างเต็มที่

 

"กรมสุขภาพจิต"ชี้ไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 3 ล้านคน


ด้านนพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว โรคซึมเศร้าเป็นภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องเร่งรักษาและป้องกัน เนื่องจากโรคนี้ส่งผลต่อการสูญเสียทั้งชีวิต การงาน การเรียน การเข้าสังคมของผู้ป่วย องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปีที่ผ่านมาประชากรโลกเผชิญปัญหานี้ 1 ใน 20 คน และเมื่อป่วยแล้วมีอัตราป่วยซ้ำได้สูงถึงร้อยละ 50-70 ที่น่าวิตกไปกว่านั้นยังพบว่าโรคซึมเศร้าเป็นต้นเหตุใหญ่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกฆ่าตัวตายหรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีผลการศึกษาพบวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือมีประมาณ 3 ล้านกว่าคน จากวัยรุ่นที่มีทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคนและมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 18 คาดว่าขณะนี้ทั่วประเทศมีวัยรุ่นป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่ยังเข้าถึงบริการน้อย เนื่องมาจากลักษณะอาการทางอารมณ์ และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ป่วยซึมเศร้าจะไม่เหมือนอาการของผู้ใหญ่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง