ปลัด สธ.สั่งทบทวนประกาศฯ ห้าม ขรก.ชาร์จมือถือ

สังคม
7 ม.ค. 61
11:02
1,131
Logo Thai PBS
ปลัด สธ.สั่งทบทวนประกาศฯ ห้าม ขรก.ชาร์จมือถือ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งทบทวนประกาศฯ ที่เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และประโยชน์ของประชาชน หลังเจอวิจารณ์สนั่น โดยเฉพาะการห้ามชาร์จโทรศัพท์มือถือ

วันนี้ (7 ม.ค.2561) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2560 เรื่องมาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการว่า ผลจากการออกประกาศดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะมีบางประเด็นอาจทำให้เกิดผลกระทบยากต่อการปฏิบัติงาน ดังนั้นเมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) จึงได้สั่งให้มีการทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว ให้มีความเหมาะสม เกิดผลดี ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และประโยชน์ของประชาชนต่อไปทั้งนี้มีรายงานว่า พรุ่งนี้ (8 ม.ค.) จะมีการแถลงข่าวนี้อีกครั้ง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำวัสดุ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ข้อ 2. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวมาชาร์จไฟในสถานที่ราชการ ข้อ 3. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของทางราชการ ไปใช้ในกิจธุระส่วนตัว ข้อ 4. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐให้พนักงานขับรถยนต์ของหน่วยงาน ไปกระทำภารกิจส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องในหน้าที่หรือภารกิจของทางราชการ ข้อ 5. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ส่วนตัวและครอบครัวมาจอดค้างคืนในสถานที่ราชการ และข้อ 6. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาล้างในสถานที่ราชการ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน ในฐานะรักษาราชการแทนหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข (ศปท.) ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการป้องกันการใช้ทรัพย์สินทางราชการ เพื่อแสดงเจตจำนงสุจริตในการบริหารราชการและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในตำแหน่งหน้าที่อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นแบบอย่างที่ดี ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาชน โดยมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนในหน่วยงานให้สามารถคิดแยกแยะว่า “เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนตนและเรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่สร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขที่มีกว่า 400,000 คน รายละเอียดในประกาศที่ได้แจ้งไป บางข้ออาจทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ใช้ทั้งติดต่อราชการและเรื่องส่วนตัว ซึ่งอยู่ในวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ถึงความเหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง