ปลดล็อก ร่างพ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรมใหม่ ใช้กลางปีนี้

Logo Thai PBS
ปลดล็อก ร่างพ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรมใหม่ ใช้กลางปีนี้
พล.อ.อ.ประจิน หนุนปลดล็อกงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศรองรับประเทศไทย 4.0 วางแนวทางให้นักวิจัยได้รับการคุ้มครองสิทธิ ได้รับผลตอบแทนเมื่อมีการขยายผลต่อยอด เป้าหมายผลิตบุคลากรนักวิจัยในช่วง 20 ปี ให้ได้ 60 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน จากเดิมมีเพียง 12-14 คน

วันนี้ (10 ม.ค.2561) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2550 งานด้านวิจัยมีความสำคัญมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก เมื่อมีการสร้างงานวิจัย ทำให้เกิดปัญญา ความรู้ สร้างเป็นเทคนิค ส่งผลให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา โดยทั่วโลกกำลังแข่งขันกัน สร้างงานวิจัยเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่คนในประเทศ

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการตื่นตัวในการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาไปเป็นนวัตกรรม โดยการหาจุดแข็งเพื่อไปสู่ความต้องการของตลาดโลก พัฒนาศักยภาพด้านบุคคล โดยการเข้าถึงบริการของรัฐบาล เข้าถึงระบบการศึกษาและได้รับทุนการวิจัยที่เท่าเทียมกัน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมยกเลิกกฎหมายงานวิจัย และนวัตกรรม แต่จะนำมารวมกัน เพื่อสร้างเป็นร่างพระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ...โดยคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบเรียบ ร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้ คาดจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในกลางปีนี้

เราได้เตรียมการยกร่างกฎหมายที่เชื่อมโยงงานวิจัย งบประมาณ องค์กร และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

โดยพ.ร.บ.ว่าด้วยการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างบุคคลากรและเครือข่าย เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมทั้งเตรียมตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิจัยนวัตกรรมแห่งชาติ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบายวิจัยนวัตกรรมแห่งชาติ

 

 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมางานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทย ต้องมีการรับรองด้านวิทยาศาสตร์ ด้านองการค์อาหารและยา และด้านพาณิชย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและเผยแพร่ เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องมีการหารือต่อไป รวมถึงปัญหาด้านสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ที่นักวิจัยต้องได้รับสิทธิประโยชน์จากผลงานของตนเอง การจัดทำพ.ร.บ.ในครั้งนี้ จึงเป็นการปลดล็อกปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนานักวิจัย งานวิจัย รวมถึงนวัตกรรมที่มีคุณภาพ

 

ขณะที่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีนักวิจัยไม่ถึง 100,000 คน หรือคิดเป็น 12-14 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน ทั้งนี้รัฐบาลมีเป้าหมายสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่วงการนักวิจัยในช่วง 5-10 ปี ให้ได้ 24-25 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน และแผนระยะยาวในเวลา 20 ปี คาดว่าจะสามารถสร้างนักวิจัยไทยได้ถึง 60 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน พร้อมทั้งเตรียมผลักดันงบประมาณการวิจัยให้ได้ 40,000 ล้านบาท ในปี 2562 นี้

 

 

“การปฏิรูปเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติและตรงกับความต้องการ โดยไม่ติดเรื่องงบประมาณและกฎหมายต่าง ๆ จะได้รับการปลดล็อกทั้งหมดเพื่อให้คลี่คลายปัญหา นักวิจัยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ เมื่อมีการขยายผลต่อนักวิจัยก็จะได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ทำให้คนที่สนใจงานวิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม มีมากขึ้น เราต้องตั้งเป้าระบบวิจัยและนวัตกรรมในระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความมั่นคง โดยมีเศรษฐกิจ สังคม องค์ความรู้ บุคลากรและเครือข่าย เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการเดินหน้าประเทศไทยให้เกิดความมั่งคงอย่างยั่งยืน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง