โลกร้อน "เต่าตัวผู้" กำลังสูญพันธุ์

สิ่งแวดล้อม
18 ม.ค. 61
19:44
2,540
Logo Thai PBS
โลกร้อน "เต่าตัวผู้" กำลังสูญพันธุ์
โลกร้อน ทำให้ประชากรเต่าตนุในเกรท แบรีเออร์ รีฟ กลายเป็นตัวเมียกว่า ร้อยละ 99 นักวิทยาศาสตร์กังวลในไม่ช้าอาจกลายเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่ไอยูซีเอ็นไทย แนะเก็บข้อมูลอุณหภูมิชายหาด เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์เต่าตนุในประเทศไทย

วันนี้ (18 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวิจัยเรื่อง Environmental Warming and Feminization of One of the Largest Sea Turtle Populations in the World เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนได้ทำให้ประชากรเต่าตนุ ในเกรท แบรีเออร์ รีฟ กลายเป็นตัวเมีย ร้อยละ 99 แล้ว นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่าสัดส่วนระหว่างเพศที่ผิดปกติเช่นนี้ จะคุกคามประชากรเต่าทะเลในอนาคตอันใกล้

เต่าทะเล เป็นหนึ่งในสัตว์ที่อุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของตัวอ่อน ซึ่งสัดส่วนของเต่าตัวเมียจะสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิของชายหาดที่วางไข่สูงขึ้น ซึ่งงานวิจัยล่าสุดนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง NOAA California State University และ กองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ WWF ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology โดยได้ศึกษาประชากรเต่าที่มีลักษณะแตกต่างทางพันธุกรรมสองกลุ่มในเกรท แบรีเออร์ รีฟ พบว่า ประชากรเต่าตนุทางตอนเหนือราว 200,000 ตัว ในปัจจุบันเป็นตัวเมียเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยลูกเต่าและเต่าวัยรุ่นทั้งหมดเป็นตัวเมียกว่า ร้อยละ 99 ในขณะที่ตัวเต็มวัยก็เป็นตัวเมียถึง ร้อยละ 87 ในขณะที่ประชากรทางตอนใต้ก็มีสัดส่วนตัวเมียเกือบร้อยละ 70

อุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส เปลี่ยนเพศเต่าตนุ

จากข้อมูลระยะยาวทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า หากอุณหภูมิของหาดทรายต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย โดยประชากรเต่าทะเลทางตอนเหนือของ เกรท แบรีเออร์ รีฟ ขยายพันธุ์ออกมาเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว และเป็นไปได้ว่าประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นตัวเมียทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Dr Michael Jensen นักวิจัยหลักจาก NOAA กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและค่อนข้างน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจวิกฤติการณ์ที่ประชากรเต่าทะเลกำลังเผชิญอยู่จากภาวะโลกร้อน

Dermot O’Gorman ผู้บริหารของ WWF ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า นี่คือผลกระทบที่ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เราเจอปรากฏการณ์ฟอกขาวอย่างรุนแรงสองปีซ้อน ซึ่งเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดๆ แต่ผลกระทบของโลกร้อนต่อประชากรเต่าทะเลเป็นอะไรที่มองไม่เห็น จนกระทั่งเรามีข้อมูลระยะยาวอย่างงานวิจัยชิ้นนี้ นี่เป็นหลักฐานล่าสุดว่าเราต้องรีบแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน”

ขณะนี้กรมสิ่งแวดแวดล้อมและคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติ ของรัฐควีนส์แลนด์ได้พยายามทดสอบมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิของหาดทรายซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เช่น การทำที่บังแดด หรือแม้แต่ฝนเทียม เพื่อลดอุณหภูมิของชายหาด ซึ่งการอนุรักษ์เต่าตัวผู้ตัวเต็มวัยจากภัยคุกคามต่างๆ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะพ่อพันธุ์เต่ากำลังจะกลายเป็นสัตว์หายากที่กำลังจะสูญพันธุ์

ไอยูซีเอ็นไทย แนะเก็บข้อมูลอุณหภูมิชายหาด

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากการจะเก็บตัวอย่างได้ อาจต้องมีกระบวนการที่ทำให้ลูกเต่าตาย ซึ่งจะแตกต่างจากการเก็บข้อมูลของออสเตรเลีย เพราะเขาเก็บข้อมูลจากแหล่งอาหาร ซึ่งเต่าตนุในออสเตรเลียมีจำนวนมากและอยู่ตามธรรมชาติ แตกต่างจากในประเทศไทยที่มีแหล่งเพาะพันธุ์เต่าตนุขนาดใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ  เกาะสิมิลัน จ.พังงา และเกาะคราม จ.ชลบุรี 

นายเพชร กล่าวต่อว่า แม้จะยังไม่มีข้อมูลรายงานที่ชัดเจน แต่ดูจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เชื่อว่าแนวโน้มบ่งชี้ไปในลักษณะเดียวกัน คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ติดตามอุณหภูมิบนชายหาด หากสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็คงต้องมีการวางมาตรการต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง