ก.พาณิชย์ตรวจเข้มราคาสินค้า หลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เศรษฐกิจ
19 ม.ค. 61
10:26
1,289
Logo Thai PBS
ก.พาณิชย์ตรวจเข้มราคาสินค้า หลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยผลการวิเคราะห์ผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า หลังการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเม.ย.นี้ พบว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 0.05 โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญเอกชนทุกกลุ่มสินค้าเข้าหารือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปรับราคาเอาเปรียบผู้บริโภค

วันนี้ (19 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ผลกระทบต้นทุนราคาสินค้าต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ แม้จะปรับเพิ่มในทุกจังหวัด แต่ปรับเพิ่มไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยปรับขึ้นร้อยละ 3.4 ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 305.44 บาท เป็น 315.90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.50 บาท จากการวิเคราะห์ พบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ต่ำสุดอยู่ที่ ร้อยละ 0.0008 และสูงสุดอยู่ที่ ร้อยละ 0.1 หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 0.05


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ถือว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนไม่มาก ผู้ผลิตจะใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนกระทรวงพาณิชย์ได้นัดหารือภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าภายในสัปดาห์หน้า เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการวิเคราะห์ต้นทุน และรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน โดยหากพบว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายต่อไป แต่หากมีผลกระทบ จะต้องศึกษาว่า มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด


นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนหากพบสินค้าหรือบริการ ปรับขึ้นราคาสามารถแจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน หมายเลข 1569 หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยขอยืนยันว่า จะดำเนินการอย่างเข้มงวด


ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบต่อราคาสินค้ากระทรวงพาณิชย์ ยังได้วิเคราะห์ผลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อภาคการผลิต โดยพบว่าต้นทุน ค่าแรงในภาคการผลิตและบริการจะเพิ่มขึ้น 10,006 ล้านบาทต่อปี หรือ คิดเป็น ร้อยละ 0.07 ของจีดีพี


โดยภาคบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุด 3 อันดับแรก คือ การก่อสร้าง การขายส่งและการขายปลีก, การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์, โรงแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, การฟอกและตกแต่งหนังฟอก, เครื่องจักรสำนักงาน โลหะขั้นมูลฐาน


ส่วนผลกระทบต่อการส่งออก พบว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.022 หรือมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาทต่อปี โดยสาขาที่มีสัดส่วนต้นทุน เพิ่มมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การพิมพ์ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย โลหะประดิษฐ์และเฟอร์นิเจอร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง