ไทยเตรียมรับมือ "ลานีญา"ฝนตกน้ำมากเทียบปี 54

สิ่งแวดล้อม
4 ก.พ. 61
15:04
6,270
Logo Thai PBS
ไทยเตรียมรับมือ "ลานีญา"ฝนตกน้ำมากเทียบปี 54
นักวิชาการไทย เปิดข้อมูลจากดาวเทียมพบว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปีละกว่า 3 มิลลิเมตร และปีนี้คาดว่าไทยมีแนวโน้มปริมาณน้ำมาก เนื่องจากปรากฎการณ์ลานีญา กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินคาดมีผล 3 เดือนช่วงม.ค.-มี.ค.นี้

วานนี้(3 ก.พ.2561) นายปกรณ์ เพ็ชรประยูร หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจีสด้า บอกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและภาพถ่ายดาวเทียมพบว่าตั้งแต่ ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้อุณหภูมิบนโลกเพิ่มขึ้นซึ่งมีผลถึงน้ำแข็งขั้วโลกละลาย และน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 3 มิลลิเมตร นั้นหมายความว่าอีก 10 ปีข้างหน้าน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 3.2 เซนติเมตร ขณะที่ปีนี้ไทยมีแนวโน้มฝนจะมากขึ้นคล้ายกับปี 2554

นายปกรณ์ กล่าวว่า ในปีนี้จากการตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลแปซิฟิก พบว่ามีการปรากฎการณ์ลานิญาอ่อนๆจะมีผลต่อปริมาณน้ำฝนของไทย โดยแนวโน้มปีนี้จะมีฝนมากขึ้น และแพทเทินฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ต้องดูกันต่อไป แต่ที่พบว่าประเทศไทยมีอากาศหนาวยาวนาน และจะมีฝนมากแน่นอน และถ้าเป็นลานิญาอ่อนๆ จะมีฝนตกหนัก และมีน้ำมากกว่า 2-3 ปีก่อนที่ไทยเจอภาวะขาดน้ำ และอากาศร้อน 

นายวิศิษฐ์ จิรภิวงศ์ เจ้าของสวนยางพารา กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกชุกมากโดยเฉพาะในปี2559-2560 ทำให้จำนวนวันที่กรีดยางน้อยลงไปเพราะเจอฝนตกหนัก ประกอบกับราคายางพาราราคาตก จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง 

นักวิชาการแนะนำว่าเกษตรกรไทยต้องปรับตัวในการปลูกพืชมากขึ้นและรัฐบาลควรส่งเสริมลงทุนงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะขณะนี้นักวิจัยในประเทศไทยมีน้อยมาก

 

ไทยได้รับผลกระทบช่วงม.ค.-มี.ค.นี้ 

ขณะที่ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ที่เฝ้าระวังและติดตามปรากฏการณ์ปรากฏการณ์ลานีญา ได้รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าในช่วงเดือนธ.ค.2560 ปรากฏ การณ์ ENSO มีโอกาส 50% ที่จะเป็นปรากฏการณ์ลานีญากำลังอ่อน ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.นี้ และจะกลับมาเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.นี้  

ซึ่งผลกระทบกับประเทศไทย ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ ของฤดูกาล แต่มีความเป็นไปได้ว่าปริมาณฝนรวม ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง มีโอกาสสูงกว่าค่าปกติ ส่วนภาคอื่นๆ มีโอกาสใกล้เคียงค่าปกติ อุณหภูมิเฉลี่ย ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสต่ ากว่าค่าปกติ ภาคเหนือและภาคกลางมีโอกาสต่ำกว่าหรือใกล้เคียงค่าปกติส่วนภาคใต้มีโอกาสใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง