รู้จัก "เสือดำ" แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง มี 130 ตัว

สิ่งแวดล้อม
6 ก.พ. 61
15:32
60,099
Logo Thai PBS
รู้จัก "เสือดำ" แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง มี 130 ตัว
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยในปี 2534 ที่นี่มีความชุกชุมของสัตว์ป่าและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะช้างป่า เสือดาว เสือโคร่ง เสือดำ กระทิง และวัวแดง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติ มีเนื้อที่กว่า 4 ล้านไร่ ครอบคลุม จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นป่าอนุรักษ์ในกลุมป่าตะวันตก ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยในปี 2534

โดยสัตว์ป่าที่พบในเขตรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ประกอบไปด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 120 ชนิด นก 400 ชนิด สัตว์เลี้อยคลาน 96 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 43 ชนิด และปลาน้ำจืด 113 ชนิด อาจมีสัตว์หลายชนิดมากกว่าแต่ยังไม่มีการสำรวจและยืนยันอย่างเป็นทางการ

สำหรับเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่ามีพื้นที่ใหญ่พอที่จะรองรับสัตว์ใหญ่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งอาจหาได้ยากหรือไม่สามารถพบได้แล้วในพื้นที่ทั่วไปในประเทศไทย แต่สามารถพบได้ที่นี้ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่งประมาณ 100 ตัว เสือดำ เสือดาว ประมาณ 100-130 ตัว  เสือลายเมฆ สมเสร็จ  เป็นต้น 

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า เสือดำ ที่ถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหดในวันนี้ เป็นครอบครัวเดียวกับเสือดาว (Leopard) ที่เราคุ้นเคยกัน ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Panthera pardus เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) เป็นเสือขนาดใหญ่รองจากเสือโคร่ง (Panthera tigris)

ทั้งนี้ เสือดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ปัจจุบัน บัญชีแดงของ IUCN จัดให้เสือดาว อยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกล่าอย่างหนัก และการบุกรุกพื้นที่ป่า

โดยเสือดำ ที่มีลักษณะลำตัวรวมถึงลวดลายเป็นสีดำตลอดทั้งลำตัว ซึ่งเกิดขึ้นได้ในเสือหลายชนิด จากการเป็นเสือดำ เกิดจากความผิดปกติในเม็ดสีเที่เรียกว่าเมลานิซึม ส่งผลให้เสือที่เกิดมานั้นเป็นสีดำตลอดทั้งลำตัว โดยที่ยังมีลายหรือลายจุดคงอยู่ แต่จะสังเกตเห็นได้ยาก จะเห็นได้ชัดเจนเมื่ออยู่ในแสงแดด

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2560 ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้สัมภาษณ์นายมงคล คำสุข หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ระบุว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง สามารถบันทึกภาพวิดีโอของเสือดำจากกล้องดักถ่ายภาพบริเวณถนนเส้นคลองลาน-อุ้มผาง หรือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ซึ่งเป็นถนนที่อยู่ระหว่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก โดยเสือดำเป็นสัตว์ 1 ใน 10 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาวเสือดำ ช้าง สมเสร็จ เก้งหม้อ กวาง เลียงผา กระทิง วัวแดง หมี ที่อยู่ระหว่างการติดตามการฟื้นกลับซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าที่กระจายตัวในป่าแถบนี้ หลังการปิดใช้ถนนเส้นดังกล่าวในปี 2520 เพื่อให้ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ดังเดิมหลังจากที่ก่อนหน้านี้ถนนเส้นนี้ได้ใช้เป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในการปราบปราบขบวนการคอมมิวนิสต์ ในเขต อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

จับซีอีโอ บ.อิตาเลียนไทย ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

กรมอุทยานฯ แจ้ง 5 ข้อหา "เปรมชัย" ยิงเสือดำทุ่งใหญ่

"ศศิน" จี้เอาผิดขั้นเด็ดขาด "เปรมชัย" ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง