ศาลปกครองชี้ "เจ้าของบ้านทุบรถ"ได้รับความคุ้มครองคดีฟ้องตลาด

สังคม
21 ก.พ. 61
11:50
15,340
Logo Thai PBS
ศาลปกครองชี้ "เจ้าของบ้านทุบรถ"ได้รับความคุ้มครองคดีฟ้องตลาด
ศาลปกครอง แจงสิทธิกรณีเจ้าของหมู่บ้านเสรีวิลล่า ทุบรถที่จอดขวางหน้าบ้าน ระบุยังได้รับความคุ้มครองชั่วคราวที่สำนักงานเขตต้องดูแลไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ขณะที่ตำรวจออกหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวน 26 ก.พ.นี้

กรณีหญิงเจ้าของบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลลา เขตประเวศ 2 คน ใช้ขวาน และเสียมทุบรถกระบะที่จอดขวางประตูทางเข้าออกบ้าน เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ประเด็นข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งสอง แต่กลายเป็นปัญหาการสร้างตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาต

วันนี้ (21 ก.พ.2561) พ.ต.อ.อลงกรณ์ ศิริสงคราม ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลประเวศ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียก น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ อายุ 57 ปี ใช้ขวาน และเสียมทุบทำลายรถยนต์กระบะที่จอดขวางประตูเข้าออกหน้าบ้านหมู่บ้านเสรีวิลลา เขตประเวศ 2 โดยให้ทั้ง 2 คนมารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 26 ก.พ.เวลา 13.00 น.โดยหากไม่มา จะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่มาตามหมายเรียกอีก ก็จะพิจารณาขอศาลออกหมายจับตามขั้นตอน เบื้องต้นจะแจ้งรวม 3 ข้อหา คือ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ข่มขู่ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว และพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีเหตุอันควร

ส่วนการดำเนินคดีกับรถที่กีดขวาง เบื้องต้นได้เปรียบเทียบปรับเจ้าของรถในข้อหา จอดรถตรงปากทางเข้าออกอาคารในลักษณะกีดขวางการจราจรมีโทษปรับ 500 บาท ส่วนข้อหาก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ต้องรอให้เจ้าทุกข์มาแจ้งความก่อน

น.ส.บุญศรี เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ ระบุว่า กรณีทุบรถที่ขวางจอดหน้าบ้าน ปัญหาสำคัญมาจากการสร้างตลาดกระทบกับหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ ซึ่งสร้างมาก่อนตลาดเกิด แต่ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กลับออกใบอนุญาตให้สร้างตลาด ซ้อนบนพื้นที่รวมทั้งหมด 8 ตลาด

นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรวมทั้งทำที่จอดรถของตลาด เกิดมลภาวะทั้งเสียงและกลิ่นรบกวนคนในหมู่บ้านทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทำลายความสงบสุขของผู้อยู่อาศัย 289 ครัวเรือน

 

ศาลแจงสิทธิยังคุ้มครองชั่วคราวคดีฟ้องตลาดนัด 


ด้านนายวัชระ ชอบแต่ง รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า กรณีนี้เจ้าของบ้าน มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองหลายปี จนศาลมีคำสั่งคุ้มครองตั้งแต่เมื่อปี 2556 แต่กทม. ก็ยังไม่ได้รับการบรรเทาทุกข์ให้ โดยยื่นฟ้องผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการดำเนินกิจการตลาดนัดข้างบ้าน รวม 2 สำนวน

สำนวนแรก ยื่นฟ้องเมื่อปี 2553 ครั้งแรกศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราว และคำพิพากษาให้ผู้ว่าฯ กทม.และเขตประเวศ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535  พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ดำเนินการใดๆ ในการจัดระเบียบตลาดให้เกิดความเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ขณะนั้นหน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้อง ก็ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด

ต่อมาในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุด จึงได้มีคำพิพากษายกย้อนคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นใหม่ ด้วยการให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ เรียกเจ้าของตลาดนัด 2 แห่งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจจะต้องถูกบังคับตามคำสั่ง ให้มาเข้าร่วมในคดีด้วยเพื่อจะได้ข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ครบถ้วน ดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่ถือว่ามีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดๆ โดยคดีเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีคำพิพากษา 

ส่วนคดีที่ 2 นั้น น.ส.บุญศรี กับพวก ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในปี 2555 เพราะมีตลาดนัดสร้างเพิ่มมาอีก ขณะนั้นศาลได้เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว จึงอยู่ในกลุ่มคดีสิ่งแวดล้อม โดยผู้ฟ้องก็ขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นก็มีคำสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม. และเขตประเวศ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ ดูแลจัดการไม่ให้ผู้ใดสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับผู้ฟ้องไว้เช่นกัน ส่วนเนื้อหาคดีหลักนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

เขตประเวศ ชี้ตลาดยังไมได้รับอนุญาต 

สำหรับประเด็นนี้นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ กล่าวในรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส โดยระบุว่า กรณีที่เจ้าของบ้าน ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการสร้างตลาดในพื้นที่โดยรอบนั้น ขณะนี้ยังถือว่าคดีไม่สิ้นสุด

กทม.จึงต้องดูแลพื้นที่ และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้พักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการผลักดันผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่กีดขวางบ้านผู้อาศัย พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีการปล่อยปละละเลยความเดือดร้อนของประชาชน แต่ได้พยายามแก้ปัญหาเท่าที่สามารถดำเนินการได้

เบื้องต้นได้หารือกับเจ้าของตลาด ให้บรรเทาความเดือดร้อนต่อผู้อยู่อาศัยโดยขอให้จัดบริการจอดรถฟรี และมีเพียงตลาดรุ่งวาณิชย์ ที่ยังขอเก็บค่าจอดอยู่แต่ลดราคาจาก 50 เหลือ 20 บาท เริ่มตั้งแต่วันนี้ (21 ก.พ.) เป็นต้นไป โดยให้มีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก

ส่วนกรณีที่บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่า เป็นพื้นที่ตามกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ผู้อำนวยการเขตประเวศชี้แจงว่า ตามกฎหมาย สามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารสูงได้ไม่เกิน 15 เมตร หรือสร้างตลาดได้ตามที่กำหนด

ปัจจุบันตลาดในบริเวณดังกล่าว 5 แห่งคือ 1.ตลาดสวนหลวง 1  2.ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต 3.ตลาดยิ่งนรา 4.ตลาดรุ่งวาณิชย์  และ 5.ตลาดร่มเหลือง เปิดดำเนินการโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตลาดอย่างถูกต้อง ซึ่งเขตประเวศ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของตลาดฐานกระทำความผิดจัดตั้งตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางทบทวนการพิพากษาเมื่อปี 2559 ซึ่งกรณีดังกล่าว นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความตั้งข้อสังเกตของการดำเนินการว่า เหตุใดจึงอนุญาตให้ก่อสร้างทั้งที่ยังไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง