ชีวิต "เด็ก" กลางดงสารเคมี กุมารแพทย์ชี้ส่งผลกระทบเซลล์ประสาท

สังคม
21 ก.พ. 61
17:34
393
Logo Thai PBS
ชีวิต "เด็ก" กลางดงสารเคมี กุมารแพทย์ชี้ส่งผลกระทบเซลล์ประสาท
สถานการณ์เด็กปฐมวัย 2 หมู่บ้าน ในจ.หนองบัวลำภู เข้าข่ายพัฒนาการสงสัยล่าช้ากว่าครึ่ง พบเกิดจากมารดามีประวัติสัมผัสสารเคมีกำจัดวัชพืชขณะตั้งครรภ์ กุมารแพทย์ชี้ส่งผลต่อการสร้างเซลล์ประสาท ชาวบ้านร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเลือดเด็ก เพื่อหาสารเคมีตกค้าง

วันนี้ (21 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกนกสาริกา ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา รองรับเด็กปฐมวัยใน 2 หมู่บ้าน คือบ้านโคกนกพัฒนา และบ้านโคกนกสาริกา เมื่อปลายปี 2560 เจ้าหน้าที่สาธาณสุขได้เข้ามาประเมินพัฒนาการเด็ก มุ่งเน้นเด็กที่เข้าข่ายพัฒนาการสงสัยล่าช้า

เจ้าหน้าที่พบเด็กกลุ่มเสี่ยงมากกว่าครึ่ง โดยเด็กอายุ 2 ขวบครึ่งพบเข้าข่ายพัฒนาการสงสัยล่าช้า ร้อยละ 50 และอายุ 3 ขวบครึ่ง เข้าข่ายพัฒนาการสงสัยล่าช้า ร้อยละ 61


น.ส.นฤมล นนทราช รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโคกนกสาริกา กล่าวว่า สาเหตุสำคัญ อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูก เพราะส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตร และตั้งข้อสังเกตว่าอาการของเด็กอาจเกี่ยวข้องกับการรับสารเคมีบางอย่างตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงมีเสียงเรียกร้องให้ตรวจเลือดเด็ก หาสารเคมีกำจัดวัชพืชตกค้างโดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า รวมถึงติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ

รศ.พญ.นิตยา คชภักดี กรรมการเด็กประถมวัยแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจพัฒนาการเด็กทั่วประเทศ ในปี 2558 ติดตามพัฒนาการเด็ก 1-3 ขวบ จำนวนกว่า 2,000,000 คน พบว่ามากถึงร้อยละ 36 เด็กมีพัฒนาการล่าช้า และสารเคมีเกษตร เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ที่อาจส่งผลกับพัฒนาการของเด็ก


รศ.พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า ผลกระทบแบบนี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ที่เด็กกำลังเริ่มสร้างอวัยวะและสมอง หากสารพิษเข้าไปเข้มข้นก็มีโอกาสแท้งสูง แต่ถ้ารับในปริมาณน้อย หรือ สะสมเรื้อรัง ก็อาจจะไปรบกวนการสร้างเซลล์ประสาทอวัยวะบางส่วน โดยเฉพาะสมอง ต้องได้รับการฟื้นฟูเร่งด่วน เพราะถ้าเลยช่วงวัย 4 ขวบ ไป เด็กจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร และการเข้าสังคมได้

ด้านนายกเทศมนตรี ต.บุญทัน เตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุขจังหวัดและในพื้นที่ ตรวจเลือดเด็กตามข้อเรียกร้อง ขณะที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สั่งการให้เก็บข้อมูลประวัติหญิงตั้งครรภ์และเด็ก เพื่อหาความเชื่อมโยงกับสารเคมีกำจัดวัชพืช แต่การตรวจเลือดเด็ก ยังมีข้อจำกัด ทั้งงบประมาณ เครื่องมือในการตรวจสอบ ซึ่งต้องประสานกับทางส่วนกลาง หรือสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพเพราะตรวจวิเคราะห์สารเคมีเหล่านี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง