เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี

เศรษฐกิจ
21 ก.พ. 61
20:00
1,280
Logo Thai PBS
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี
หากขับรถผ่านถนนเกษตรนวมินทร์คงจะคุ้นชินกับตอม่อที่อยู่กลางถนนมานานกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นตอม่อที่สร้างไว้รองรับการก่อสร้างทางด่วน และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี ขณะที่เสียงคัดค้านของประชาชน ดูจะมีปัญหากับทางด่วนมากกว่ารถไฟฟ้า

วันนี้ (21 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เสียงคัดค้านการก่อสร้างทางด่วนที่ดังที่สุดน่าจะมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ไม่ต้องการให้การพัฒนาไปกระทบสภาพแวดล้อมของเมือง เพิ่มการใช้รถยนต์และมลภาวะทางอากาศ ซึ่งในปัจจุบัน กรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่แล้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี แถมมีทางด่วนพ่วงด้วย มาจากการทบทวนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่ต้องการใช้ประโยชน์ของซากตอม่อ 281 ตอม่อ ช่วงแยกเกษตร-นวมินทร์ ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้นานกว่า 10 ปีแต่สุดท้าย หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2556

แต่ถ้าหากดำเนินการแล้วเสร็จ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะกลายเป็นรถไฟฟ้าเส้นทางที่ 11 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอีก 7 สาย เช่น สายสีม่วง ชมพู แดง เขียว และส้ม ซึ่งการพัฒนาเส้นทางนี้ รถไฟฟ้าสีน้ำตาลและทางด่วน จะอยู่แนวเส้นทางเดียวกัน

ทั้งนี้ ทางด่วน เป็นโจทย์ใหญ่ของการก่อสร้างครั้งนี้ เพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บริษัทที่ปรึกษา จึงได้นำเสนอรูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ 4 รูปแบบ โดยแบบที่ 1 พัฒนาเฉพาะรถไฟฟ้า แบบที่ 2 และแบบที่ 3 พัฒนาทางด่วน และแบบที่ 4 พัฒนาทั้งรถไฟฟ้าควบคู่ทางด่วน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า รูปแบบที่ 4 เหมาะสมที่สุด

ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยืนยันสนับสนุนทางเลือกที่ 1 คือสร้างเฉพาะรถไฟฟ้า แต่ไม่เอาทางด่วน เนื่องจากต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ลดมลภาวะทางอากาศ สวนทางกับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ระบุว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะต้องดำเนินการให้ได้ตามแผน โดยยืนยันว่ามีความจำเป็น พร้อมมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน โดยรัฐบาลพร้อมเจรจา เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

นายไพรินทร์ กล่าวว่า เส้นทางดังกล่าวจะเป็นครั้งแรกที่จะเชื่อมต่อระหว่างระบบถนนและระบบราง จำนวนผู้โดยสาร คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น เป้าหมายเพื่อช่วยปัญหาจราจร

หากย้อนกลับไปช่วงปี 2556 ที่มีการคัดค้านทางด่วนขั้นที่ 3 เหตุผลหลักที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุ คือผลกระทบต่อสุนทรียภาพเมือง เพิ่มความแออัดให้พื้นที่ พื้นที่สีเขียวจะหายไป และจะเพิ่มมลภาวะ ควรใช้ระบบรางสาธารณะ

นอกจากเรื่องทางกายภาพ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อสมาธินิสิต การเรียนการสอน ปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่อุบัติเหตุรถยนต์หรือยานพาหนะขนส่งจะตกจากทาง
พิเศษ การคัดค้านในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดต่อม่อค้างอยู่ 281 ตอม่อบนถนนเกษตร-นวมินทร์เช่นปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง