ปชช.เกินครึ่งเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย” แนะถูกกัดรีบล้างแผล-ฉีดวัคซีน

สังคม
10 มี.ค. 61
12:02
7,073
Logo Thai PBS
ปชช.เกินครึ่งเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย” แนะถูกกัดรีบล้างแผล-ฉีดวัคซีน
เปิดผลสำรวจ พบประชาชนร้อยละ 60 เข้าใจผิดคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหายได้ และที่สำคัญผู้เสียชีวิตในปีนี้ ถูกสุนัขเลี้ยงกัดหรือข่วน เพราะเชื่อว่าสุนัขไม่ป่วย ย้ำต้องพาสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนและหากถูกสุนัขแมวกัด หรือ ข่วน รีบทำความสะอาดแผลก่อนไปพบแพทย์

วันนี้ ( 10 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 คน ที่จังหวัดสุรินทร์ สงขลา และตรัง โดย 2 คน ถูกลูกสุนัขกัด มีแผลเล็กน้อย ส่วนอีก 1 คน ถูกสุนัขมีเจ้าของกัด ซึ่งทั้ง 3 คน ไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน

จึงขอย้ำเตือนประชาชนว่า หากถูกสุนัข แมวกัด หรือข่วน แม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือเป็นลูกสุนัข ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ซึ่งช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัด เพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท เมื่อแสดงอาการป่วยแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย

ผลสำรวจความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าจากประชาชน 11,369 คน พบว่า ร้อยละ 60 ประชาชนคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้

ร้อยละ 34 ไม่ทราบว่าหากฉีดวัคซีนไม่ครบชุด ไม่ตรงตามกำหนดนัดอาจตายได้ ถ้าสุนัขที่มากัดเป็นสุนัขบ้า

ร้อยละ 32 ไม่ทราบว่าการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง และทายาเบตาดีน ช่วยลดเชื้อที่บาดแผลได้

จึงขอให้ผู้เลี้ยงสุนัขและแมว พาไปฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ตามกฎหมายโรคพิษสุนัขบ้าปี 2535

สำหรับอาการโรคพิษสุนัขบ้า หากสัตว์เลี้ยงมีอาการซึมไม่กินข้าว แอบอยู่ในที่มืด เห่าหอนผิดปกติ หรือพบเห็นสัตว์ที่มีอาการหางตกเดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า อย่าเข้าไปใกล้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือ ผู้นำชุมชน หรือหากเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านให้ขังไว้ 14 วัน ถ้าสัตว์เลี้ยงตายให้สงสัยว่าใช่ และขอให้ส่งหัวสัตว์เลี้ยงไปตรวจ

โดยพื้นที่ กทม.ส่งที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย หรือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง