ต่อยอดกระแสละครเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมบันเทิง

ศิลปะ-บันเทิง
13 มี.ค. 61
13:05
3,574
Logo Thai PBS
ต่อยอดกระแสละครเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมบันเทิง
กระแสละคร "บุพเพสันนิวาส" ส่งผลต่อการท่องเที่ยว และที่สำคัญคือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มากไปกว่านั้นยังได้รับความนิยมในหลายประเทศ นี่อาจเป็นบทเริ่มต้นของการปักหมุดยุทธศาสตร์ Soft Power ที่กระทรวงวัฒนธรรมพยายามให้เกิดขึ้น

เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญของวงการละครไทย เพราะนอกจากเรตติ้งที่พุ่งสูงทั้งในหน้าจอและโลกออนไลน์ กระแสของละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ยังทำให้เกิดการตื่นตัว นักท่องเที่ยวไทยหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กันมากขึ้น ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ที่วัดไชยวัฒนารามจึงเต็มไปด้วยประชาชนที่มาถ่ายภาพ และเยี่ยมชมโบราณสถาน

งานชุดไทยต้องมี งานเช็คอินก็ต้องมา ซึ่งวัดไชยวัฒนาราม เป็นหมุดหมายของแฟนละครบุพเพสันนิวาส เพราะวัดแห่งนี้คือฉากหลังสำคัญ ตามท้องเรื่องบอกว่าเป็นย่านนิวาสถานของ "หมื่นสุนทรเทวา" พระเอกของเรื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังละครออนแอร์ โบราณสถานแห่งนี้มีผู้มาเยือนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดย "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา" รับกระแสด้วยการจัดกิจกรรมสวมชุดไทยร่วมชมโบราณสถาน มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นถึง 4 เท่า จากเดิมประมาณ 3,000 คน ขณะที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวสูงกว่า 13,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย

ยุรี ศศิรัตน์ นักท่องเที่ยว กล่าวว่า เราอยู่ที่นี่เรารู้จักอยุธยาอยู่แล้ว พอมาเจอละครอีกก็ยิ่งจุดประกาย กระแสละครตรงนี้พี่ชื่นชมในตัวบทละครที่เขาแต่งขึ้นมา ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยามากขึ้น

สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ส่วนหนึ่งคือละครที่เข้ามา คนสนใจประวัติศาสตร์กันมากขึ้น สนใจสถานที่ เนื้อหาเรื่องราว แต่จะทำยังไงให้คนมีส่วนร่วมตรงนี้ได้ ก็เลยโปรโมทเริ่มจากใส่ชุดไทยชวนเข้าวัดไชยวัฒนาราม นักท่องเที่ยวค่อนข้างเข้ามาหนาตา เป็นบรรยากาศที่แปลกไปจากเดิม สัปดาห์ที่แล้ว ก่อนจะมีละคร วันธรรมดาคนไทยก็ไม่ถึง 1,000 คน อยู่ที่ประมาณ 700- 900 คน พอมีกระแสละครเข้ามาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000- 3000 คน ส่วนเสาร์อาทิตย์ปกติจะอยู่ที่ 3,000 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 9,000 คน

ละครเนื้อหาดี ดูสนุก พร้อมสอดแทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จำลองบ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในยุครุ่งเรืองให้เป็นเรื่องจับต้องได้ ไม่ไกลตัว ผลคือหลังทุกตอนที่ละครออกอากาศเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย อย่างต่อเนื่อง จนทำสถิติเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ทางโทรทัศน์

ขณะที่ช่องทางออนไลน์ก็มีผู้ชมย้อนหลังสูงหลักล้านวิว ความนิยมยังไปไกลในหลายประเทศเพื่อนบ้าน ถูกแปลเป็นภาษาจีนและเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงพลังการเล่าเรื่อง นี่อาจเป็นโอกาสของละครไทยในฐานะ Soft Power ส่งออกสื่อบันเทิง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เช่นเดียวกับที่เกาหลีและญี่ปุ่นเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

กว่า 10 ปีมาแล้ว ที่กระทรวงวัฒนธรรมเคยมีแนวคิดในการส่งออกวัฒนธรรมไทยผ่านละครตามรอยซีรีส์เกาหลี หากเพียงความฮิตของละครอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียว ยังต้องวางแผน ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน

รศ.กิตติ ประเสริฐสุข ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ของไทยผมว่าเราต้องมียุทธศาสตร์ตรงนี้ที่ชัดเจน ตรงนี้ผมเข้าใจว่ามีผู้ผลิตจะมุ่งผู้ชมละครไทยเป็นหลัก มันก็เลยยังไม่มีฐานในวงกว้างมากนักในหลายๆ เรื่อง บางเรื่องไปต่างประเทศแล้วแต่บางเรื่องยังไม่ไปแม้จะมีศักยภาพที่จะไปได้ ต้องพยายามโปรโมทมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบ อย่างเช่นว่าพอมีละคร เรื่องท่องเที่ยวเริ่มโอเคแล้ว แต่เรายังสามารถลิงค์ไปเรื่องสินค้าค้าอื่นๆ ได้อีก สอดแทรกเข้าไปไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคหรือว่าบริการทางด้านวัฒนธรรม นอกเหนือไปจากท่องเที่ยวอาจเป็นนวดหรืออะไรแบบนี้ก็ต้องให้ผู้จัดตีโจทย์ให้แตก

ข้อสังเกตสำคัญของผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าละครไทยขณะนี้สามารถสร้างความนิยมได้ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย รวมถึงจีน ไต้หวัน ซึ่งมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน แต่หากหวังให้เป็นมากกว่ากระแสในภูมิภาค ผู้ผลิตอาจเริ่มด้วยการพัฒนาบท ให้สื่อสารวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ มากกว่าเจาะกลุ่มตลาดผู้ชมในประเทศ รวมถึงมีการไทอินสถานที่ท่องเที่ยวหรือสินค้าทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ไปพร้อมกับยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์อย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ โอกาสนี้กระทรวงวัฒนธรรมไม่ปล่อยให้เลยผ่านไป อาศัยกระแสละครจัดสัมมนาวิชาการวันที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ ส่งเสริมให้มีความเข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น รวมถึงเรื่องอาหาร มรดกภูมิปัญญา ผ้าไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง