ตร.จ่อกำหนดโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ทั่วประเทศ

สังคม
21 มี.ค. 61
11:26
865
Logo Thai PBS
ตร.จ่อกำหนดโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ทั่วประเทศ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุมเข้มช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วัน วันที่ 11-17 เม.ย.นี้ เตรียมออกข้อกำหนดห้ามเล่นน้ำบนถนนทั้งสายหลักและสายรองทั่วประเทศ พร้อมขอความร่วมมือท้องถิ่น กำหนดโซนนิ่งให้ชัดเจน ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

วันนี้ (21 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบนโยบายในการเตรียมความพร้อมด้านการจราจรให้แก่เจ้าหน้าที่งานจราจรและสายงานสอบสวนทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินการช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.นี้

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รับทราบแผนและแนวทางการปฏิบัติด้านการจราจร เช่น การออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร หรือ ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่องในถนนบางสาย หรือช่องทางพิเศษ เพื่อเปิดพื้นผิวการจราจรให้ได้มากที่สุด ลดปัญหาจราจรติดขัด สำหรับสงกรานต์ปีนี้ คาดว่าปริมาณรถจะมีมากกว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะถนนสายมิตรภาพที่เดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะตรวจสอบและประชุมความคืบหน้าในทุกสัปดาห์ เพื่อแก้ไขปัญหา เพิ่มพื้นผิวการจราจรในจุดที่อาจทำให้การจราจรติดขัดให้สามารถเร่งระบายการจราจร รวมถึงจัดกำลังพลและเครื่องมือให้มีความพร้อม

นอกจากนี้ จะพิจารณาออกข้อบังคับของเจ้าพนักงานจราจร ห้ามเล่นน้ำบนถนนทั้งสายหลักและสายรองทั่วประเทศ พร้อมขอร่วมมือกับฝ่ายปกครองหรือผู้นำท้องถิ่น ในการกำหนดพื้นที่ หรือโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและจะควบคุมการกระทำความผิดอย่างเข้มข้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ หากพบว่ามีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดำเนินการโดยเด็ดขาดทุกกรณี และให้ทุกพื้นที่ตรวจสอบกรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้สืบสวนขยายผลไปยังร้านค้าที่จำหน่ายด้วย

ส่วนกรณีการนั่งท้ายรถกระบะ หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นก็จะใช้การว่ากล่าวตักเตือน แต่หากเป็นพฤติกรรมที่ล่อแหลม ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นก็ให้บังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดใน 10 ข้อหาหลัก ได้แก่ 1.ขับขี่รถโดยใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 2.ขับขี่รถย้อนศร 3.ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร 4.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5.ไม่มีใบขับขี่ 6.แซงในที่คับขัน 7.ขับขี่รถในขณะเมาสุรา 8.ไม่สวมหมวกนิรภัย 9.มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย และ 10.ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถ รวมทั้งเข้มงวดกวดขันกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายจะถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทุกราย และพนักงานสอบสวนจะบันทึกผลการตรวจลงในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสถานีตำรวจ หรือ ระบบ CRIMES เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบการกระทำผิดซ้ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ศาลพิจารณาโทษที่สูงขึ้น และเห็นควรใช้มาตรการยึดรถเมาแล้วขับตามคำสั่ง คสช. เพราะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง