ปักหมุดคดีใหญ่ "ข้าราชการทุจริต" จังหวัดไหน-ใครโกง

อาชญากรรม
26 มี.ค. 61
15:41
12,266
Logo Thai PBS
ปักหมุดคดีใหญ่ "ข้าราชการทุจริต" จังหวัดไหน-ใครโกง
เกาะติดการตรวจสอบข้าราชการทุจริต พบบางคดีกระทำการมานานนับปีมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท ซ้ำยังกระทำเป็นขบวนการ "ไทยพีบีเอส" ปักหมุดมีทุจริตในจังหวัดไหนบ้าง

จากแผนที่ด้านล่างนี้จะเห็นได้ว่ามีคดีทุจริตโดยข้าราชการเกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงนี้ ซึ่งสามารถคลิกที่ไอคอนหรือแถบเมนูด้านข้างแผนที่ เพื่อเลือกดูแต่ละคดีในจังหวัดต่างๆ ได้

ทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

จากกรณีนิสิตฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดโปงการทุจริตงบประมาณ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. จึงเข้าตรวจสอบหน่วยงานในสังกัด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง นิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง (ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา) และศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมีทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ผู้อำนวยการศูนย์ต่างๆ รวมถึงข้าราชการระดับปฏิบัติงาน

สำหรับการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พบการทุจริต 53 จังหวัด แบ่งออกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคใต้ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด และภาคตะวันออก 4 จังหวัด ความเสียหาย 140 ล้านบาท

ส่วนนิคมสร้างตนเอง 4 แห่ง พบการทุจริตกว่า 30 ล้านบาท คือ นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานี นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และนิคมสร้างตนเองภาคใต้ จ.สตูล

นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังตรวจสอบพบข้อมูลว่า ปี 2560 มีงบประมาณ 370 ล้านบาท จาก 490 ล้านบาท ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ถูกจัดสรรไปยังนิคมสร้างตนเอง และศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา มากผิดปกติ เช่น จ.เชียงใหม่ 66 ล้านบาท เชียงราย 16 ล้านบาท พะเยา 13 ล้านบาท แพร่ 6 ล้านบาท ตาก 5 ล้านบาท กำแพงเพชร 3 ล้านบาท เพชรบูรณ์ 3 ล้านบาท ราชบุรี 2 ล้านบาท และกาญจนบุรี 1 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาบางแห่ง ได้รับงบประมาณเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น เช่น น่าน ลำปาง พิษณุโลก อุทัยธานี และเพชรบุรี

สำหรับวิธีการทุจริตมีตั้งแต่การปลอมแปลงเอกสารของคนไร้ที่พึ่ง (ปลอมลายมือชื่อบุคคลอื่นเพื่อเบิกเงิน) แต่เจ้าตัวไม่ได้รับเงินจริง การใช้เอกสารปลอม (อ้างว่าเป็นคนไร้ที่พึ่ง) ทั้งที่ความจริง ไม่ได้มีความเดือดร้อนจริง เป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนจริง และถูกแอบอ้าง เป็นต้น

อินโฟกราฟิก : จังหวัดที่พบการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง

อินโฟกราฟิก : จังหวัดที่พบการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง

อินโฟกราฟิก : จังหวัดที่พบการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง

ทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

หลังกลุ่มตรวจสอบภายในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบบัญชีงบประมาณประจำปี 2560 พบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งเป็นกองทุนขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กยากไร้ ในกลุ่มสถานศึกษาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี

ซึ่งวิธีการทุจริต คือ เจ้าหน้าที่ซึ่งทำเอกสารให้กับคณะกรรมการกองทุนฯ จะแจ้งไปยังโรงเรียนว่า ให้ส่งรายชื่อเด็ก เข้ามาให้พิจารณาเพื่อขอรับทุน เมื่อได้รับประวัติของนักเรียนแล้ว จะแจ้งกลับไปว่า นักเรียนไม่ได้รับทุน ขณะที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวใช้เอกสารที่ได้มา แนบเพื่อให้ผู้อนุมัติลงนาม เพื่อส่งให้กองคลัง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้โอนเงิน แต่บัญชีปลายทางที่เงินถูกโอนไปนั้น เป็นหมายเลขบัญชีของญาติ หรือผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 จำนวน 88 ล้านบาท

แม้ข้าราชการคนหนึ่งในสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษาจะยอมรับสารภาพ แต่ยังมีอดีตข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนัก และเจ้าหน้าที่อีกหลายคนมีส่วนร่วมด้วย

อ่านเพิ่มเติม : เปิดขั้นตอนทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต

ทุจริตเงินทอนวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

ทุจริตงบประมาณอุดหนุนวัดทั่วประเทศ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ที่มีการตรวจสอบพบว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา โดยข้าราชการระดับสูง ใน พศ. เอง

สำหรับวิธีการทุจริต เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ พศ. ในสมัยนั้น จะโทรศัพท์แจ้งไปยังวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดที่มีขนาดเล็ก และวัดขนาดใหญ่ ที่เจ้าอาวาสมีความสนิทสนมกัน พร้อมกับแจ้งว่าจะสนับสนุนการก่อสร้างหรือดำเนินโครงการต่างๆ โดยให้วัดส่งเอกสารมาให้ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในขบวนการเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด และเมื่อโอนเงินเข้าบัญชีเจ้าอาวาสหรือวัดแล้ว ข้าราชการระดับสูงของกรมการศาสนา จะแจ้งไปยังเจ้าอาวาสว่า จะขอเงินคืนส่วนหนึ่งเพื่อนำไปช่วยเหลือวัดที่ยากจนกว่า หรือวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้

มีวัดหลายแห่งที่หลงเชื่อ ถอนเงินออกมา ซึ่งข้าราชการระดับสูงใน พศ.จะส่งคนไปรับเงินสดด้วยตัวเอง กระทั่งมีผู้สงสัยและร้องเรียน ให้มีการตรวจสอบ และดำเนินคดี

ซึ่งกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ บก.ปปป. ดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนคดีไปยัง ป.ป.ช. แล้ว 35 สำนวน มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

ทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

กว่า 3 ปี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวนคดีทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างสนามฟุตซอล ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วงเงินหลายร้อยล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งข้าราชการทั้งระดับสูงและในพื้นที่ นักการเมือง และเอกชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง