รู้ไว้ไม่ผิด 6 ข้อ ก่อนเที่ยวสงกรานต์

สังคม
10 เม.ย. 61
11:29
2,525
Logo Thai PBS
รู้ไว้ไม่ผิด 6 ข้อ ก่อนเที่ยวสงกรานต์
ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว หลายคนเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด หลายหน่วยงานต่างเตรียมความพร้อมวางมาตรการป้องกัน “อุบัติเหตุ” ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด ปีนี้ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร กำหนดมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561

ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวม 6 เรื่อง “ไม่ควรทำ” ในวันสงกรานต์ เพื่อให้ปีใหม่ไทยปีนี้เต็มไปด้วยความสุข  

1.แต่งกาย "โป๊-เปลือย"

หากพบการแต่งกายส่อไปทางอนาจาร ล่อแหลม อาจเข้าข่ายความผิดฐานการทำอนาจารต่อสาธารณชน โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น อาจมีโทษตามมาตรา ป.อาญา 388 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

2.พฤติกรรม "ลวนลาม-อนาจาร"

กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมคึกคะนอง ฉวยโอกาสลวนลามหรืออนาจารผู้อื่น เช่น จับที่หน้าอก กักไม่ให้เดินผ่าน มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนอายุไม่เกิน 15 ปี เด็กผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม เป็นความผิดตามมาตรา 279 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.เมาแล้วขับ

พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่ มีการกำหนดอัตราโทษในความผิดเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่ถ้าหากว่าเมาแล้วขับแล้วก่อให้เกิดอุบัติเหตุ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และเพิกถอนในอนุญาต 1 ปี ส่วนเมาแล้วขับจนมีผู้เสียชีวิต มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทันที

4.นั่งท้ายรถกระบะเล่นน้ำ

นั่งท้ายกระบะเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้ ให้เล่นเฉพาะในจุดที่จังหวัดหรือชุมชนกำหนดให้เท่านั้น ส่วนการนั่งท้ายกระบะเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบ กรณีไหนเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายจะมีการว่ากล่าวตักเตือน แต่หากเป็นพฤติกรรมที่ล่อแหลม ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นก็ให้บังคับใช้กฎหมายทันที และต้องใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อความปลอดภัย

5.ดื่มแอลกอฮอล์บนรถ

ดื่มแอลกอฮอล์บนรถถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าผู้ขับรถไม่ได้ดื่มแต่หากผู้โดยสารที่มาด้วยดื่ม จะดื่มขณะที่รถวิ่งอยู่บนถนนหรือรถจอดอยู่ข้างทาง ผู้ขับรถมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยการดื่มสุรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 4,31 (7) และ 42 รวมถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานหรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. 2555

6.ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง

อุปกรณ์ในการเล่นน้ำไม่ควรใช้แบบแรงดันสูง ที่มีลักษณะกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้อื่น ซึ่งหากมีผู้เสียหายแจ้งความก็จะมีความผิดทันที ไม่เพียงเท่านั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศห้ามขายปืนฉีดน้ำแรงดันสูง โดยหากพบมีขายจะมีความผิดตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

 รู้ไหม “สงกรานต์ไทย” มีมาแต่เมื่อใด

ทำไมไทยเล่นน้ำ "สงกรานต์" จากกลางวันสู่กลางคืน?

เปิดใจ 3 อาชีพ กับภารกิจไม่มีวันหยุด (เทศกาล)

น่าสนใจทั้ง 10 ที่ แล้วจะเที่ยวสงกรานต์ที่ไหนดี?

สทท.คาดสงกรานต์เงินสะพัด 2 หมื่นล้าน กระแสฮิตแต่งกายชุดไทยดันท่องเที่ยวบูม

ผลิตไม่ทัน! ยอดสั่ง “โจงกระเบน” ใส่สงกรานต์พุ่ง

ทช.แนะนำ 8 เส้นทางเลี่ยงรถติดช่วงสงกรานต์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง