ตะลึง! กากขยะพิษทั่วโลก 1 แสนตันแอบขนซุกไทย

สิ่งแวดล้อม
23 พ.ค. 61
17:24
40,240
Logo Thai PBS
ตะลึง! กากขยะพิษทั่วโลก 1 แสนตันแอบขนซุกไทย
เปิดเส้นทางทุนจีน ลักลอบนำขยะกากอุตสาหกรรมจากทั่วโลกทิ้งในไทย คัดแยกผิดกฎหมายเกือบ 100,000 ตัน ภายในระยะเวลา 1 ปี พร้อมขยายผลมี 3 บริษัทแบ่งสายรับงานนำเข้า คัดแยก หากใช้งานไม่ได้จะหลอมทิ้ง

วันนี้ (23 พ.ค.2561)พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยกำลังทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง นำหมายค้นเข้าตรวจค้นโรงงานนิวส์สกาย เมทัล จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เป้าหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการรับกำจัดขยะโดยผิดกฎหมาย

เบื้องต้นพบว่าที่นี้มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 15 ใบ ซึ่งเป็นกิจการคัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียและอันตราย กิจการถอดแยกอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่เมื่อเข้ามาตรวจสอบพบมีกองสายไฟขนาดใหญ่ กองขดลวดทองเหลืองขนาดใหญ่

ภายในมีห้องลักษณะคล้ายเตาหลอม แต่ไม่พบคนงานทำงาน และเตาหลอมขนาดใหญ่เครื่องจักรยังทำงานอยู่ขณะที่ตำรวจ เข้าตรวจสอบ ทำให้เชื่อได้ว่าโรงงานแห่งนี้ลักลอบเผาและหลอมแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นของต้องห้าม นำเข้ามาในประเทศไทย

นายสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร ยอมรับว่า มีการตรวจสอบบริษัท ที่นำเข้าตู้คอนเทนเนอร์สินค้าโดยส่วนใหญ่ มีต้นทางมาจากหลายประเทศในเอเซีย แต่เป็นการสำแดงรายการนำเข้าเป็นสินค้า อุปกรณ์ทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ

 

สอดคล้องกับข้อมูลของตำรวจที่ยืนยัน กลุ่มนายทุนชาวจีน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำธุรกิจคัดแยกขยะอุตสาหกรรม โดยรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 1 แสนตันจากประเทศพัฒนาแล้ว มาทำลาย และย้ายฐานมายังประเทศไทย เพราะประเทศจีน มีคำสั่งห้ามนำเข้าขยะ

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนบริษัทพยายามเข้าอธิบายกับตำรวจ และยืนยันจะนำหลักฐานมาแสดงในภายหลัง พร้อมชี้แจงที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามาจากฮ่องกง เพื่อนำมารีไซเคิล

เปิดเส้นทางขยะพิษสู่ไทย 

โรงงานกำจัดขยะของบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบจากตำรวจพบว่าเป็นนายทุนต่างประเทศ สัญชาติจีน กำลังถูกตำรวจสอบสวนว่า รับซื้อขยะจากทั่วโลกเพื่อไปกำจัดที่ประเทศจีน แต่เมื่อ 1 ปีก่อน จีนมีคำสั่งห้ามขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มนายทุนจึงเบนเข็มนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาคัดแยก แล้วส่งขายต่อโรงงาน ที่รับซื้ออย่างครบวงจร และตำรวจตรวจพบการนำเข้าเกือบ 1 แสนตัน

ข้อมูลจากการสรุปผลการตรวจสอบของตำรวจ พบว่าเส้นทางการนำเข้าขยะ ของบริษัทดับบลิว เอ็มดี รีไซคลิ้ง จำกัด แยกออกได้เป็น 3 เส้นทาง ผู้นำส่งขยะ รายแรก เป็นบริษัทชื่อ โอ จี ไอ จำกัด บริษัท โอ จี ไอ มีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท สถานที่ตั้ง อยู่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จดทะเบียนขายส่งเหล็ก และโลหะ มีกรรมการบริษัท 2 คน แต่เมื่อดู รายละเอียดจาก ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยคนไทย 3 คน ที่เหลือ อีก 2 คน เป็นนายทุนจากจีน และเกาหลีใต้ สำหรับบริษัทโอ จีไอ จำกัด เจ้าหน้าที่ พบใบขนส่งขยะ 226 ฉบับ น้ำหนัก 11,000 กิโลกรัม



ส่วนบริษัทที่ 2 คือ เจพีแอล เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบเอกสารใบขนส่งขยะ 272 ฉบับน้ำหนักขยะกว่า 23,000 กิโลกรัม บริษัทเจพีแอล เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด มีทุนจดทะบียน 15 ล้านบาท ตั้งอยู่ในอำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา จดทะเบียนประกอบกิจการหลอม รีด ตัดพับ อลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือ และโลหะทุกชนิด บริษัทเจพีแอล เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีกรรมการเป็นคนไทย

ถัดมาคือ บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทแห่งนี้จากข้อมูลจดทะเบียนการค้า มีทุนจดทะ เบียน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ จดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการ รวบรวมของเสียที่ไม่เป็นอันตราย มีกรรมการบริษัท 2 คน แต่หากตรวจสอบจากข้อมูลการลงทุน และผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย นายทุนไทย 2 คน ลงทุนร่วมกับ นายทุนจากสิงค์โปร์ และไต้หวัน เมื่อตรวจสอบจากใบขนส่งสินค้า พบ เอกสารใบขนส่ง 1,402 ฉบับ น้ำหนักขยะ ที่นำเข้าส่งโรงงานบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้งจำกัด จำนวน กว่า 62,300 กิโลกรัม หรือมากกว่า 62 ตัน

การสอบสวนของตำรวจพบว่า ทั้ง 3 บริษัท ส่งขยะเข้าโรงงานบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จากนั้นนำสู่กระบวนการคัดแยกด้วยแรงงานคน ขยะจำนวนหนึ่ง นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่อีกจำนวนหนึ่ง หากใช้ไม่ได้ จะถูกส่งเข้าเตาหลอม เช่น อลูมิเนียม เหล็ก พลาสติก และอีกจำนวนหนึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถทำลายได้

วันนี้ เจ้าหนัาที่ยังได้กระจายกำลังไปตรวจสอบโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะอีก 4 แห่ง 1 ในนั้น คือ บริษัท หย่งถัง ไทยจำกัด มีชื่อของกรรมการบริษัท เป็นคนเดียวกับบริษัท เจพีเอส เมทัลกรุ๊ป จำกัด ที่ถูกตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ถือหุ้น บริษัท หย่งถังมีทั้ง คนไทย 3 คน ร่วมทุนกับนักลงทุนชาวจีน ด้วยทุนจดทะเบียน 19 ล้านบาท

อีก 3 บริษัท ที่ถูกตรวจสอบมีทั้งนายทุนที่เป็นชาวจีน และชาวฮ่องกง คือบริษัท นิวสกายเมทัล จำกัด บริษัท ทรัพย์เจริญ รีไวเคิล จำกัด และบริษัท ซันเหลียน ไทย จำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง