โรงเรียนพระปริยัติธรรม โอกาส-ทางเลือกทางการศึกษา

สังคม
24 พ.ค. 61
13:36
4,656
Logo Thai PBS
โรงเรียนพระปริยัติธรรม โอกาส-ทางเลือกทางการศึกษา
ความยากจนและการขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากความไม่พร้อมจากหลายปัจจัย ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจให้บุตรหลานมาบวชเรียน แม้ว่าในปัจจุบัน คสช.จะกำหนดให้การศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็ตาม

พระกิตติสารมุนี เจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า การศึกษาของมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ศึกษาตามหลักสูตรคณะสงฆ์ไทย คือเรียนนักธรรมและภาษาบาลีในภาคเช้า ส่วนภาคบ่าย เรียนหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีสามเณรทั้งหมด 293 รูป ซึ่งมาจากทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าน่าจะมาจากการขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากความไม่พร้อมและไม่สะดวกของพ่อแม่ รวมทั้งต้องการให้บุตรหลานเข้ามาบรรพชาหรือบวชเรียน เพื่ออบรมบ่มนิสัยและอยู่ในระเบียบวินัยของพระสงฆ์

สำหรับการเรียนประจำปีการศึกษา 2561 มีสามเณรเข้ามาศึกษาต่อในชั้น ม.1 และ ม.4 ประมาณ 80 รูป หากเปรียบเทียบกับเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่มีสามเณรรวมทั้งหมดกว่า 700 รูป ถือว่าลดลงไปกว่าร้อยละ 50 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาภาคบังคับของรัฐบาล และเด็กเกิดใหม่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงสถาบันการศึกษาพระสงฆ์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ โรงเรียนเอกชนและรัฐบาลได้รับผลกระทบเช่นกัน 

ในแต่ละปี มีสามเณรที่จบการศึกษาชั้น ม.3 ลาสิกขาหรือสึกออกไปเรียนต่อข้างนอกประมาณ 20% แต่มีนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากข้างนอกแล้วเข้ามาบวชเรียนตั้งแต่ชั้น ม.4 เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเรียนต่อไปจนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่เปิดสอน 3 คณะ 3 สาขาวิชา ส่วนสามเณรที่จบชั้น ม.6 สึกออกไปประมาณ 20% เนื่องจากไม่มีคณะและสาขาวิชาที่ต้องการเรียนต่อ


พระกิตติสารมุนี กล่าวว่า การเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี มีการเทียบวุฒิการศึกษาให้เปรียญธรรม 5 ประโยค เท่ากับชั้น ม.6 ซึ่งสามเณรที่เรียนภาษาบาลีอย่างเดียว ถ้าได้เปรียญธรรมประโยคสูงจะเข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของพระสงฆ์เลย แต่ไม่ได้นำวุฒิการศึกษาออกไปเรียนต่อข้างนอก ส่วนการเรียนในสายสามัญศึกษา สามารถนำวุฒิการศึกษาไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้อยู่แล้ว


ด้านพระพุทธิสารเมธี เจ้าอาวาสวัดศรีทวี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า วัดศรีทวีเคยเป็นสำนักเรียนบาลีมาก่อน แต่ไม่ได้เปิดการเรียนการสอนแล้ว เนื่องจากสามเณรมีจำนวนน้อยลง และไม่ได้ส่งเข้าสอบ จึงถูกยุบไปโดยปริยาย และในปัจจุบันได้เปิดเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แห่งที่ 2 ฝ่ายธรรมยุต มีการสอนธรรมะและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาปฏิบัติธรรม


ส่วนสามเณรในวัด 4-5 รูป ส่งไปเรียนต่อชั้น ม.1-6 และเรียนภาษาบาลีที่โรงเรียนพระบรมธาตุพิทักษ์วิทยา วัดพระนคร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดศรีทวีมากนัก ส่วนนักธรรมส่วนใหญ่จะเรียนที่วัด ก่อนหน้านี้ สามเณรที่เรียนจบชั้น ม.6 ส่วนใหญ่จะสึกเกือบทั้งหมดและไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาเปิดวิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเวลาหลายปีแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง