ทช.ชี้ปะการังอ่าวกุ้ง-ป่าชายเลนสมบูรณ์ไม่เหมาะสร้างท่าเรือ

สิ่งแวดล้อม
4 มิ.ย. 61
12:52
2,907
Logo Thai PBS
ทช.ชี้ปะการังอ่าวกุ้ง-ป่าชายเลนสมบูรณ์ไม่เหมาะสร้างท่าเรือ
อธิบดี ทช.ชี้ปะการังอ่าวกุ้ง-ป่าชายเลนรอบพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง มีสมบูรณ์ไม่เหมาะสร้างท่าเรือ พบส่วนใหญ่เป็นปะการังเขากวาง ปะการังโขด และมีกัลปังหา เตรียมสรุปเสนอ คชก. ห่วงผลกระทบหากมีการขุดร่องน้ำ ตะกอนทับปะการังพัง

วันนี้ (4 มิ.ย.2561) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. กล่าวว่า กรณีกลุ่มอนุรักษ์บ้านอ่าวกุ้ง ม.9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้ร้องเรียนการสร้างท่าเทียบมารีนา ที่อาจกระทบกับทุ่งปะการังพื้นที่กว่า 62 ไร่ โดยเผยแพร่ภาพทุ่งปะการังขนาดใหญ่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดกระไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือที่อยู่ห่างจากทุ่งปะการังเพียง 2 กิโลเมตร 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับชาวบ้าน และกลุ่มอนุรักษ์ ซึ่งพบว่าบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่เหลื่อมกัน ของป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองพาราพื้นที่ 2,343 ไร่ และป่าชายเลนตามมติ ครม.เนื้อที่ 2,567 ไร่ ซึ่งจากการเดินจนถึงจุดที่น้ำทะเลท่วมถึงพื้นที่ และเดินเข้าไปจากการสำรวจด้วยสายตา พบว่ายังมีความสมบูรณ์

บริเวณแถบนี้มีการสำรวจพบอะไรบ้าง ระหว่างทางที่จะไปเกาะเฮ จะมีทุ่งปะการัง กัลปังหา ถือว่ามีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง แต่บริเวณนี้ไม่เหมาะกับการกิจกรรมดำน้ำ และท่องเที่ยว แต่มีทรัพยากรที่ปรากฎขึ้นในแต่ละจุด หมายความว่าทั้งป่าชายเลน มีความสมบูรณ์ พื้นที่ทะเลมีพืช สัตว์ หญ้าทะเล ปะการังที่ขึ้นในระดับหนึ่งและมีการฟื้นตัวได้ดี

 

ทช.สรุปผลสำรวจเสนอ คชก.ทบทวน

เมื่อถามว่าหากผลสำรวจว่าปะการัง และทรัพยากรมีความสมบูรณ์ ทางทช.จะเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตัดสินใจทบทวนโครงการนี้หรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็น รายละเอียดโครงการว่าอยู่ตรงจุดไหน แต่รู้ว่ากำลังทำรายงานการศึกษาผลระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และทช.จะเสนอข้อมูลชิ้นนี้ ให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการหรือ คชก.ว่ามีอะไรบ้าง และที่สำคัญป่าที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนหากจะมีโครงการที่อาจส่งผลกระทบจำเป็นต้องขออนุญาตขอใช้พื้นที่ตรงนี้ด้วย และคงจะลำบาก


ผมยืนยันว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสมบูรณ์แน่นอน แต่จะเหมาะสมทำท่าเรือมารีน่าหรือไม่ ต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับป่าชายเลน และสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือเร่งจัดการแนวแขตต้องทำแนวเขตป่าชายเลนภายใน 2 สัปดาห์ ให้ปักแนวเขตว่าจุดไหนคือเขตแนวป่าชายเลน รวมทั้งต้องจะต้องปลูกป่าชายเลนทดแทนป่าแหว่งที่หายไปประมาณ 1 ไร่

นักวิชาการ กังวลขุดร่องน้ำตะกอนทำปะการังพัง

ก่อนหน้านี้ ดร.นลินี ทองแถม ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้สรุปผลสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต รวมทั้งเกาะในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรายงานว่าจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา

โดยสำรวจทั้งหมด 7 สถานี เบื้องต้นพบว่าแนวปะการังในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่กรมมาสำรวจไว้เมื่อปี 2556 โดยพบว่าแนวปะการังฟื้นตัวจากสถานภาพเสียหายมาก กลับอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง 4 สถานี ได้แก่ เกาะเฮ เกาะปายู เกาะรา และเกาะแพ

 

ส่วนที่ยังมีสถานภาพเสียหายมี 2 สถานี ได้แก่ เกาะงำ และแหลมขาด และที่มีสถานภาพเสียหายมาก 1 สถานี คือ ชายฝั่งอ่าวกุ้ง ปะการังที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มปะการังโขด ปะการังเขากวาง ปะการังดอกไม้ทะเล ปะการังรังผึ้ง ปะการังวงแหวน ปะการังช่องเหลี่ยม

ข้อมูล ระบุว่า ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพปะการังในบริเวณนี้ คือตะกอนตามธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน และลักษณะพื้นทะเลเป็นทรายปนโคลน ทำให้น้ำค่อนข้างขุ่น แนวปะการังมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และง่ายที่ตะกอนพื้นทะเลจะฟุ้งกระจายขึ้นมาทับถมบนปะการัง

 

ผู้ว่าฯภูเก็ต ระบุยังไม่ถึงขั้นตอนอนุมัติโครงการ 

สำหรับทะเลบ้านอ่าวกุ้ง มีเนื้อที่ปะการังถึง 547ไร่ มีกัลปังหาแดง ทั้งหมด 12 ไร่ มีระดับความสมบูรณ์ปานกลาง นอกจากนี้ บริเวณทะเลบ้านอ่าวกุ้งมีระดับน้ำตื้นมาก ระดับน้ำทะลต่ำสุด 0.80 เมตร และน้ำขึ้นสูงสุดเพียง 3 เมตร และการขุดลอกร่องน้ำที่ระบุไว้ใน EIA จะทำให้เกิดฝุ่นตะกอน 200,000 ตัน

โดยโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่จอดเรือได้จำนวน 72 ลำ ยังอยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ส่วนแบบการดำเนินโครงการได้มีการกำหนดไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด

ขณะที่ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประชุมรับทราบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีมีการเรียกร้องให้มาร่วมกันปกป้องทุ่งปะการังดังกล่าว พบว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตในการสร้างท่าเรือต่อเจ้าหน้าที่หรือทางจังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด มีเพียงการยื่นเรื่องต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

และจากการตรวจสภาพพื้นที่พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับป่าชายเลนและทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงต้องแจ้งให้รับทราบด้วยและมีข้อมูลว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง

ส่วนกรณีแนวปะการัง ชาวบ้านเห็นว่าแนวพื้นที่การขุดร่องน้ำที่มีการนำเสนอในครั้งที่มีการเปิดประชาพิจารณ์นั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะผ่านจุดใดบ้าง เพราะในการสร้างมารีน่าจะต้องนำเรือเข้าไปจอด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ชาวบ้านอ่าวกุ้ง หวั่นท่าเรือยอร์ชทุบหม้อข้าวทะเลภูเก็ต

 เปิดแผนสร้างท่าจอดเรือยอร์ช 72 ลำ

 

 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง