หยุดทิ้งเถอะ ! สัตว์ไม่รู้ว่าพลาสติก “กินไม่ได้”

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 61
14:56
9,099
Logo Thai PBS
หยุดทิ้งเถอะ ! สัตว์ไม่รู้ว่าพลาสติก “กินไม่ได้”
แต่ละปีมีสัตว์ป่า ต้องปวดท้องทุรนทุรายและตายอย่างทรมาน เพราะมีพลาสติกอัดแน่นอยู่ในท้อง "พลาสติก" กลายอาหารใหม่ที่พวกมันไม่รู้ว่ากินแล้วตาย พวกมันไม่รู้ว่าต้องกินของภายในถุงพลาสติกเท่านั้น ปัญหานี้เกิดขึ้นจากคนทิ้งขยะ และปัญหาแก้ได้ ถ้าคนไม่ทิ้งขยะ

ปี 2560 ขยะพลาสติกในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านตัน ขยะเหล่านี้แพร่กระจายทั้งบนบกและทะเล ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ หลายปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นภาพสัตว์กับขยะพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ภาพอาจจะสื่อสารความทรมานและความเจ็บปวดได้ไม่มาก

ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2561 ไทยพีบีเอสออนไลน์ขอถ่ายทอดความรู้สึกของสัตว์เหล่านี้ ผ่านการบอกเล่าของสัตวแพทย์ ที่ทำการรักษา และสัมผัสความทุกข์ทรมานของสัตว์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เห็นว่าการทิ้งขยะพลาสติก 1 ชิ้น ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขยะกับสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่ควรใกล้ชิดกัน แต่มนุษย์กลับทำให้ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น โดยการให้อาหารสัตว์ เหตุเพราะความน่ารักน่าเอ็นดู สงสาร และอยากถ่ายรูปเซลฟี่ การกระทำนี้ส่งผลให้สัตว์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการหาอาหาร สัตว์เรียนรู้การรื้อถังขยะและคิดว่าขยะของมนุษย์เป็นของกินได้

“อาหารส่วนใหญ่จะอยู่ในถุงพลาสติก เวลาขยับพลาสติกเสียง ก๊อบ แก๊บ ของถุงพลาสติก ทำให้สัตว์ได้ยินและเดินมาหา มันรู้ว่าในถุงพลาสติกมีของที่มันกินได้ มันก็จะกลืนเข้าไปทั้งถุง”

 

เก้ง-กวาง ทรมานก่อนตาย เหตุกินถุงพลาสติก

สัตว์ที่มีความคุ้นเคยกับคนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากขยะมากที่สุด เช่น ลิง เก้ง กวาง ช้าง นก เม่น พวกมันจะกินขยะทุกชนิดทั้งพลาสติก โลหะ อลูมิเนียม โดยที่ไม่รู้ว่าของเหล่านั้นเป็นสิ่งอันตรายถึงชีวิต

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า พฤติกรรมการกินอาหารของเก้ง กวาง คือการใส่อาหารเข้าไปในปากจนถึงกระเพาะ จากนั้นจะขย้อนอาหารออกมาเพื่อเคี้ยวแล้วกลืนกลับเข้าไปใหม่ เมื่อมีอาหารอยู่ในถุงพลาสติก เก้ง กวาง จะเขมือบเข้าไปทั้งถุง ถุงพลาสติกเมื่อเข้าไปในกระเพาะจะขย้อนออกมายากกว่าอาหารอื่นๆ พลาสติกที่กินเข้าไปเรื่อยๆ จะตกค้างและอุดตันอยู่ในกระเพาะและลำไส้ เมื่อมีปริมาณมากขึ้นจะไปบดบังการดูดซึมแร่ธาตุและน้ำ ส่งผลให้เก้ง กวาง ขาดสารอาหาร โดยสังเกตได้จากภายนอกคือ ขนซีดขาว ขนร่วง ตาฝ้า อ้าปากค้าง ท้องอืด ผอม อึไม่เป็นก้อน

 

ซึ่งทีมสัตวแพทย์จะช่วยรักษาตั้งแต่ให้ยาจนถึงการผ่าตัดเปิดกระเพาะ เพื่อนำขยะพลาสติกออกมา การรักษาสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกขั้นตอนมีข้อจำกัดและมีความเสี่ยง

“เราไม่ต้องการผลงานด้านการผ่าตัด ข้อจำกัดอยู่ที่หลังการรักษา หลังผ่าตัดเราไม่สามารถกักขังเขาไว้ในที่แคบนานๆ ได้ เพราะจะเกิดความเครียด เมื่อปล่อยไปแผลก็อาจจะปริ เราไม่สามารถสั่งเขาอดน้ำอดอาหารเพื่อให้แผลสมานได้ หลังผ่าตัดจึงจะมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างเกิดขึ้น”

ขยะประเภทอื่นๆ ยังส่งผลให้สัตว์ได้รับอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อย เช่น กวางเดินเหยียบที่เขี่ยบุหรี่ เดินเหยียบกระป๋องอลูมิเนียม เศษโลหะ จนเป็นแผลที่ขา บางตัวอักเสบมีการติดเชื้อ

 

ช้างป่า “เข้าใจผิด” คิดว่าถุงขนมเป็นดินโป่ง

ช้างเป็นสัตว์อีกประเภทที่กินขยะพลาสติก โดยจะกินถุงขนมกรุบกรอบที่มีรสเค็ม ซึ่งคล้ายกับรสของดินโป่งอาหารที่ช้างชื่นชอบ เมื่อกินเข้าไปแล้วแม้ช้างจะสามารถขับถ่ายถุงขนมออกมาได้ แต่ก็พบว่าในอึของช้างมีเลือดออก ซึ่งนายสัตวแพทย์ภัทรพล คาดว่าความคมของขอบถุงขนมอาจจะบาดกระเพาะและลำไส้

หยุดทิ้งขยะ = คืนชีวิตให้สัตว์ป่า

นายสัตวแพทย์ภัทรพล ให้ข้อมูลว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมาตรการจัดการขยะอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อย่างกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลด คัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงโครงการคัดแยกขยะคืนถิ่น ที่นำขยะกลับมาใช้ประ โยชน์ ขณะเดียวกันยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการขยะ ทำโครงการต่างๆ ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่คนจะเข้ามาท่องเที่ยว เพื่อรณรงค์ประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะ

มาตรการจัดการขยะถูกคิดขึ้นมาอย่างรอบคอบ ภาพรวมถือว่าได้ผลดี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ปฏิบัติตาม แต่อาจจะมีเพียงส่วนน้อยที่คิดว่านำขยะมาวางไว้ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็เก็บทิ้งให้ หรือวางไว้ตรงนี้ สัตว์ไม่เข้ามากินหรอก เพราะไม่ใช่อาหารสัตว์ พฤติกรรมแบบนี้ จึงทำให้ขยะกลายเป็นเพชรฆาตที่ฆ่าสัตว์ป่าตายอย่างทรมาน และเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์ 

 

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่าเมื่อเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ให้กินขยะได้ เราก็เปลี่ยนให้พวกมันกลับไปกินอาหารปกติได้เช่นกัน เพียงปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้อาหารสัตว์ป่า ไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ขับรถเร็ว ไม่พกสุรา และไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ชีวิตสัตว์ทะเลพิการ เหยื่อขยะพลาสติก

รวมสัตว์โลกหลากชนิด สังเวยชีวิตจากขยะ

20 กระทรวง Kick Off ลดใช้ถุงพลาสติก-โฟม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง