กรมศุลกากร" สั่งล็อก 11 ตู้สินค้า คาดลักลอบขนขยะพิษ

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 61
18:02
1,248
Logo Thai PBS
กรมศุลกากร" สั่งล็อก 11 ตู้สินค้า คาดลักลอบขนขยะพิษ
พบ 11 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือกรุงเทพ เข้าข่ายอาจลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นตรวจค้น 4 ตู้เจอชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปะปน ขณะที่กรมโรงงานเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มโรงงานเถื่อน แอบกำจัดขยะอันตราย หลังพักใบอนุญาตนำเข้า 4 โรงงาน

วันนี้ (5 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 11 ตู้ของบริษัทประกอบกิจการประเภทการขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แห่งหนึ่ง ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีวัตถุอันตรายตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมข้อ 5.3 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องเอ็กซเรย์ตรวจพบข้อสงสัย จึงเปิดตู้เพื่อพิสูจน์ โดยจากการตรวจสินค้า 4 ตู้จาก 11 ตู้พบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปะปน

นายบุญมา สิริธรังศรี  ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ  กล่าวว่า สินค้าดังกล่าวได้เข้ามาที่ท่าเรือคลองเตย ผ่าน 2 ใบขนสินค้า โดยใบขนแรก มี 8 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยสำแดงรายการสินค้าว่าเป็นเศษทองแดง และเศษอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้าได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต แต่เมื่อสินค้าเข้าเครื่องเอ็กซเรย์ กลับพบลักษณะต้องสงสัย เจ้าหน้าที่จึงกักสินค้าทั้ง 2 ใบขนสินค้าไว้เพื่อตรวจสอบ

 

 

นายบุญมา ระบุว่า มาตรการของกรมศุลกากรทำได้เพียงสกัดสินค้าเพื่อไม่ให้ออกไปภายนอก แต่ต้องรอคำยืนยันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า สินค้าเหล่านี้ ถือเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่ หากพบว่าเป็นวัตถุอันตราย กรมศุลกากร สามารถที่จะดำเนินคดี หรือผลักดันกลับประเทศได้ตามระเบียบ แต่หากพิจาณาว่าไม่เข้าข่ายก็จำเป็นต้องปล่อยสินค้าออกไป

ทีมข่าวไทยพีบีเอส พยายามติดต่อกับตัวแทนออกของ หรือ ชิปปิ้งของบริษัทดังกล่าว ซึ่งมาเข้าร่วมสังเกตุการณ์การเปิดตู้คอนเทนเนอร์ในครั้งนี้ด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าที่ต้องขอใบอนุญาตในเข้า เพราะฉะนั้นบริษัทจึงไม่ได้ขอใบอนุญาต และสามารถนำเข้าได้โดยถูกต้อง

 

กรมโรงงานฯ สั่งพักใบอนุญาตนำเข้า 4 โรงงาน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโรงงานที่แอบลักลอบกำจัดขยะโดยไม่ได้รับอนุญาตว่า  ขณะนี้ตรวจสอบพบว่ามีโรงงาน 4 แห่ง จาก 7 แห่ง ที่มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซล ทำผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เนื่องจาก มีการส่งต่อให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาต เพื่อทำการกำจัดและเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ส่วนซากขยะที่เหลือจะต้องถูกส่งกลับให้กับบริษัทที่รับกำจัดให้หมด

กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะกำหนดเป็นนโยบายหลักว่าหากโรงงานใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมีการดำเนินงานไม่เป็นไปตามนโยบาย หรือมีการถูกพักใบอนุญาตจะถือว่าไม่ทำตามนโยบายนั้นๆ จะถูกขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ไม่ให้ขอใบอนุญาตอีกเป็นเวลา 10 ปี

สำหรับ 4 บริษัท ที่กรมโรงงานได้พักใบอนุญาตนำเข้าไปแล้ว 1.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัล กรุ๊ปส์ 2.บริษัท หย่งถังไทย 3.บริษัท โอ.จี.โอ. 4. บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล ส่วนบริษัทไวโรกรีน(ไทยแลนด์) อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ขณะที่อีก 2 รายคือ บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) และบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย

 

ยกระดับตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ 100%


ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาการสำแดงเท็จ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้กรมศุลกากร ได้ยกระดับการตรวจสอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา ในไทยขั้นสูงสุดแล้ว โดยร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกตู้แบบ 100% จะไม่มีการสุ่มตรวจเหมือนก่อน โดยเฉพาะที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ที่มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงร้อยละ 90 ส่วนท่าเรือที่นำเข้าขยะจำนวนไม่มากก็จะใช้วิธีเฟซไทม์ส่งภาพสแกนให้กรมโรงงานฯ ช่วยตรวจสอบ

ทั้งนี้หากพบผู้นำเข้ารายใดกระทำผิดจะลงโทษปรับสูงสุดที่ 500,000 บาททันที รวมถึงกรมโรงงานฯ จะเพิกถอนใบอนุญาตด้วย ที่สำคัญจะตีกลับขยะเหล่านั้นไปประเทศต้นทางทันทีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะกองสุมไว้ในไทย

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงาน กล่าวว่า ปกติประเทศไทย มีการนำเข้าและส่งออกซากอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว เพราะมีบางส่วนที่เทคโนโลยีในประเทศยังไม่สามารถดำเนินการได้ก็ส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะที่การนำเข้ามาก็สามารถนำซากอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นมา สร้างมูลค่าได้

โดยปี 2560 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ 53,000 ตัน ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีการนำเข้า 37,000 ตัน ส่วนการส่งออกปี 2560 อยู่ที่ 43,000 ตัน โดยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มีอยู่ 13,000 ตัน
สำหรับมาตรการจัดหาแนวทางให้มีการควบคุมอันตรายจากท่าเรือ ไปยังสถานที่ปลายทางหรือสถานที่ที่ได้รับอนุญาตนั้น จะมีการติดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อตรวจสอบ โดยจะเริ่มดำเนินการต่อไปเร็วๆนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ผงะ! โรงงานลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก 2 หมื่นตัน

ยังลักลอบขน "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" เข้าไทย ใช้วิธีสำแดงเท็จ

ค้นโรงงานในนิคมฯ ลาดกระบัง นำเข้า-ขาย “กากขยะพิษ” ส่งโรงหลอมฉะเชิงเทรา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง