"ขอลี้ภัย-ไร้สนธิสัญญาส่งตัว" ช่องว่างไทยไล่จับ "อดีตพระพรหมเมธี"

อาชญากรรม
6 มิ.ย. 61
17:34
1,213
Logo Thai PBS
"ขอลี้ภัย-ไร้สนธิสัญญาส่งตัว" ช่องว่างไทยไล่จับ "อดีตพระพรหมเมธี"
เปิดช่องว่างที่ทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังไม่สามารถนำตัวอดีตพระพรหมเมธี ผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด กลับมาได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบการขอลี้ภัยทำให้ได้รับการคุ้มครองชั่วคราว 2 เดือน นอกจากนี้ไทย-เยอรมนี ยังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วันนี้ (6 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะยังไม่สามารถนำตัว อดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร พระผู้ต้องหารายสุดท้าย ในคดีเงินทอนวัดล็อตที่ 3 กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ เพราะขณะนี้อดีตพระพรหมเมธี ได้ยื่นเรื่องขอเป็นผู้ลี้ภัยในเยอรมนี 

โดยขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเรื่องของการขอลี้ภัย ทางการเยอรมนีจะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย 1.การขอลี้ภัยทางการเมือง 2.การขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3.การขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน 4.การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง

สำหรับกรณีของอดีตพระพรหมเมธี คาดว่า ได้จะยื่นคำขอลี้ภัยโดยให้เหตุผลว่า ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ ละเมิดพื้นฐานความเป็นมนุษย์ โดยหากการขอลี้ภัยถูกปฏิเสธ อดีตพระพรหมเมธี ก็ยังมีสิทธิยื่นคำขออุทธรณ์ต่อไปได้อีก

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการขอความร่วมมือ เรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ข้อมูลของกองการต่างประเทศ พบว่าไทยกับเยอรมนี ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน มีเพียงสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2536 เท่านั้น

 


ปัญหาการนำตัวอดีตพระพรหมเมธี กลับมาดำเนินคดี นอกจากถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องหาได้เตรียมแผนการหลบหนี และมีผู้ให้การสนับสนุน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ยังยอมรับว่า บางครั้งการดูแลพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนมาก่อน ในทันทีที่มีการปฏิบัติการ ก็อาจเป็นช่องโหว่ให้ผู้ต้องหาหลบหนีไป รวมถึงหน่วยข่าวไม่สามารถปิดชายแดนตลอดแนว หรือแม้แต่หน่วยงานตามปกติ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หากไม่รู้กระบวนการในการดำเนินงานอาจจะทำให้มีช่องว่างได้

อายัดบัญชีผู้เกี่ยวข้องคดีเงินทอนวัด 90 วัน


ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนคดีเงินทอนวัด ขณะนี้เหลือเพียงการตรวจสอบเอกสารที่ยึดมาได้จากการตรวจค้นวัดต่างๆ และมีรายงานว่า พนักงานสอบสวน ได้ประสานงานเจ้าหน้าที่สำนัก งานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือป.ป.ง. ให้อายัดบัญชีธนาคารทุกบัญชีที่เป็นบัญชีส่วนตัวของผู้ต้องหาทั้งหมดทั้งที่เป็นพระ และเป็นฆราวาส เป็นเวลา 90 วัน แต่ไม่ได้อายัดบัญชีของวัด เพื่อตรวจสอบเส้นทางทางการเงินอย่างละเอียด

โดยมีรายงานด้วยว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของวัดสามพระยาวรวิหาร พนักงานสอบสวน เตรียมออกขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 2 คน เนื่องจากพบว่า มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการทุจริตเงินทอนวัดโดยเป็นสองสามีภรรยาเจ้าของร้านสังฆภัณฑ์แห่งหนึ่ง ที่มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับวัดสามพระยาฯ และไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินจำนวน 3 ล้านบาทได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

"ผบ.ตร." กลับจากเยอรมนีถึงไทยไร้เงา "อดีตพระพรหมเมธี"

เยอรมนีให้ความคุ้มครอง "อดีตพระพรหมเมธี" ตามสิทธิผู้ขอลี้ภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง