สุ่มตรวจ"สารโลหะหนัก"กลุ่มเสี่ยงเด็ก 5 ขวบ บ้านฆ้องชัย

ภูมิภาค
13 มิ.ย. 61
14:04
1,337
Logo Thai PBS
สุ่มตรวจ"สารโลหะหนัก"กลุ่มเสี่ยงเด็ก 5 ขวบ บ้านฆ้องชัย
กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ติดตามผลการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หลังพบชาวบ้านทำเป็นอาชีพเสริมนานกว่า 20 ปี ระบุผลตรวจ 173 คนค่าสารแคดเมียมในร่างกายปกติ ด้านคพ.จ่อขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย

วานนี้ (12 มิ.ย.2561) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น และ นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ โดยคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าประชาชนมีการประกอบอาชีพคัดแยกขยะและซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมู่บ้าน โดยทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว

 

เนื่องจากขยะนี้มีสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด อาทิ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม รวมทั้งโลหะมีค่าและแร่ธาตุที่หายากหลายชนิด จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในดินและแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภออย่างแบบรูปธรรม โดยมีนายอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้นำในการช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านคน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยที่นี่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะทำอาชีพนี้เกือบหมดทุกครัวเรือน และให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนและร่วมวางแผนเชิงระบบ เพื่อจัดการด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลรักษา โดยในระยะยาวภาครัฐจะร่วมวางแผนกับภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้ พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม สนับสนุนต่อไป

 

 

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ในการคัดกรองสุขภาพผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด จำนวน 194 คน พบว่า มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเนื่องจากการยกของหนัก มากที่สุด ร้อยละ 71.1 รองลงมาคือมีอาการผื่นคันผิวหนัง คัดจมูกเนื่องจากสัมผัสฝุ่น ร้อยละ 47.9 มีการบาดเจ็บเล็กน้อยเนื่องจากอุบัติเหตุจากการถอดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 38.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบ้านที่มีการคัดแยกชิ้นส่วนจอทีวี คอมพิวเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเวลานาน จำนวน 173 คน เพื่อตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกาย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกคน

ส่วนการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันผลิตหน่วยการเรียนรู้เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปทดลองใช้สำหรับสอนนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 8 แห่ง และในปี 2561 นี้ จะได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังสารโลหะหนักในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในช่วงเดือน ก.ค.นี้

ผู้ว่าฯ ดัน7ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาขยะครบวงจร

ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีการสนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางตามโครงการจังหวัดสะอาด ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 4,469 แห่ง โดยมีหมู่บ้านชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ 159 แห่ง และเริ่มให้มีจุดรวบรวมขยะอันตรายหมู่บ้านละ 1 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์ มีการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่แบบครบวงจรและบูรณาการทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านกลไกของคณะกรรมการสาธารณสุขระดับจัง หวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีศูนย์วิชาการระดับเขต เครือข่ายคณาจารย์จากภาคสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ

โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 7 ยุทธศาสตร์ คือพัฒนาระบบการดูแลเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความรู้ ทักษะที่ถูกต้องนำสู่การเกิดจิตสำนึกและวินัยของประชาชนและผู้ประกอบการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและรูปแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์  สร้างความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และมาตรการทางกฎหมาย  สร้างกลไกการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการขยะอิเล็ก ทรอนิกส์โดยใช้พื้นที่เป็นฐานส่งเสริมอาชีพเสริม และอาชีพทางเลือกที่มั่นคงทั้งผู้ประกอบการและประชาชน

 

คพ.จ่อขึ้นทะเบียนหมู่บ้านคัดแยกขยะไฮเทค

ด้าน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรณีของหมู่บ้านคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นปัญหาที่กรมควบคุมมลพิษ พยายามแก้มาโดยตลาดเป็นเวลาหลายปี ยอมรับว่าการที่จะให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเลิกการประกอบอาชีพนี้เป็นไปได้ยากเนื่องจากประชาชนทำเป็นอาชีพไปแล้ว

วิธีการแก้ไขคือต้องเข้าจัดระบบใหม่ โดยผลักดันให้การคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับครัวเรือน ชุมชนต้องถูกขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในครัวเรือนเท่านั้นไม่ใช่การนำเข้า และต้องจัดการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถประกอบอาชีพคัดแยกได้ แต่ต้องเข้าสู่ระบบมิฉะนั้นอาจจะเปิดปัญหาเช่นการตรวจเจอสารโลหะหนักปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม คพ.จะพิจารณารายละเอียดว่า จะต้องมาขึ้นทะเบียนในรูปแบบโรงงาน หรือรูปแบบใด ในพระราชบัญญัติจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากขณะนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึงในกรุงเทพมหานครเองก็พบว่ามีการรับคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้เรื่องการจัดการ การคัดแยก วีธีการป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับผล

 

อ่านเพิ่มเติม 

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์สั่งแก้ "ขยะไฮเทค" ทะลักชุมชน 2 หมื่นตันต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง