คสช.-ป.ป.ท.เฝ้าระวังทุจริตฝายชะลอน้ำไทยนิยม 1,097 แห่ง

สังคม
18 มิ.ย. 61
19:11
405
Logo Thai PBS
คสช.-ป.ป.ท.เฝ้าระวังทุจริตฝายชะลอน้ำไทยนิยม  1,097 แห่ง
คสช.ร่วมกับ ป.ป.ท.เตรียมตรวจสอบฝายชะลอน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในโครงการไทยนิยมยั่งยืน 1,097 แห่งใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงิน 109 ล้านบาทเพื่อป้องกันการทุจริต และเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม

วันนี้(18 มิ.ย.2561) พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ว่า หลังพบการร้องเรียนปัญหาทุจริตในโครงการของรัฐผ่านช่องทางต่างๆ ขณะนี้คสช.ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันและปรามทุจริตประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ซึ่งพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช.ได้มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ร่วมกับ ป.ป.ท.ตรวจสอบเรื่องที่หน่วยงานและประชาชนร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ก่อนส่งผลการปฏิบัติโดยรวมให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติดำเนินการต่อไป

ล่าสุดจะร่วมกันตรวจสอบการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตามโครงการไทยนิยมยั่ง ยืน 1,097 แห่ง ใน 45 จังหวัด เพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ โดยได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นครั้งแรกวันนี้ ที่สำนักงาน ป.ป.ท.เพื่อกำหนดแนวทางตรวจสอบและเฝ้าระวังร่วมกัน ทั้งนี้การเฝ้าระวังการทุจริตเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลคสช.ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบโครงการภาครัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใส สร้างมาตรฐานการป้องกันปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ

พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า ความร่วมมือตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำปี 2561 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 1,097 ฝายใน 45 จังหวัด งบประมาณ 109.7 ล้านบาท จะตรวจสอบแบบต้นน้ำ คือ เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการก่อสร้าง เฝ้าระวัง ตั้งข้อสังเกต รวมไปถึงการชี้แนะ  

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน กำหนดนโยบาย แนวทาง วิธีการ เข้าถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำในทุกขั้นตอน อันจะนำไปสู่การวางมาตรการป้องกันการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

และภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้กำหนดร่างแผนปฏิบัติการร่วม ระหว่าง 5 หน่วยงานโดยสำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยตรวจสอบหลักที่จะกำหนดวิธีการ ขั้นตอน ระยะเวลาที่เหมาะสมของการปฏิบัติการตามโครงการและประมวลผลรูปแบบการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย วิเคราะห์งบประมาณที่รัฐต้องสูญเสีย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง