4 ปีแชร์ลูกโซ่หลอก 80,000 คน -ฌาปนกิจสงเคราะห์แชมป์ถูกร้อง

สังคม
18 มิ.ย. 61
15:25
4,698
Logo Thai PBS
4 ปีแชร์ลูกโซ่หลอก 80,000 คน -ฌาปนกิจสงเคราะห์แชมป์ถูกร้อง
สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ เผยตัวเลข 4 ปี แชร์ลูกโซ่หลอก 80,000 คน ฌาปนกิจสงเคราะห์ถูกร้องเรียนมากที่สุดเข้าถึงระดับชาวบ้าน แนะภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีเจ้าภาพในการดำเนินคดี สร้างความรู้ให้ประชาชนรู้ทันกลโกง จึงจะทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไป

วันนี้ (18 มิ.ย.2561) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มีผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่มาร้องเรียนที่สมาพันธ์ฯ นับตั้งแต่ตั้งเพจเฟซบุ๊กมาประมาณ 4 ปี มากกว่า 80,000 คนแล้ว

สำหรับแชร์ลูกโซ่จะแบ่งตามการศึกษา กลุ่มความรู้ และฐานะ แต่มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน คือ 1.เกษตรกร จะมีการนำการปลูกมันสำปะหลัง ข้าวสาร ต้นหม่อนมัลเบอร์รี่ ซึ่งเกษตรกรเข้าใจและจะถูกหลอกโดยง่าย อย่างกรณีฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งเกษตรกรมีความเดือดร้อนอยู่แล้ว คิดว่าตรงนี้จะมาเติมเต็มชีวิต มีรายได้เพิ่มเติมมากขึ้น ทำให้ถูกหลอกได้

2.วัยรุ่น ซึ่งอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ จะถูกหลอกเรื่องการลงทุน เช่น หลอกลงทุนในหุ้น หุ้นต่างประเทศ สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบางกลุ่มจะไปรู้จักธุรกิจที่เหมือนขายตรง มีการสร้างทีม แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่จะใช้แผนธุรกิจขายตรงมาใช้

3.ข้าราชการ หรือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่รู้เรื่องการลงทุน ซึ่งจะถูกหลอกเรื่องหุ้นทองคำ คือทองคำ เราทุกคนจับต้องได้ จึงคิดว่าการซื้อขายหุ้นทองคำในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์) ที่ทำเป็นเว็บ ไซต์ขึ้นมาน่าจะเป็นจริง และการลงทุนในฟอเร็กซ์ ซึ่งเป็นการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประ เทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เคยอนุญาตให้เอกชนรายใดทำฟอเร็กซ์ในประเทศไทยได้เลย 

ดังนั้นแสดงว่าคนที่เทรดฟอเร็กซ์ในประเทศไทย ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด ซึ่งต้องปลูกฝังให้เห็นว่าการไปลงทุนแบบนี้ โอกาสถูกโกงมีสูง เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการลงทุนจริงหรือหลอก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกกลุ่มทุกอาชีพสามารถถูกหลอกได้ทั้งหมด


นายสามารถ กล่าวว่า แชร์ลูกโซ่ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ที่หลอกว่าเสียชีวิตแล้วได้เงิน เนื่องจากผู้เสียหายส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน เมื่อเสียชีวิตแล้วไม่ได้เงินถึงรู้ว่าถูกโกง ลูกหลานต้องออกมาฟ้องร้อง ซึ่งบางครั้งไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้เป็นคนทำสัญญา กลายเป็นว่าคนที่ยังไม่เสียชีวิตออกมาฟ้องแทน ซึ่งเดิมฌาปนกิจฯ จะทำเฉพาะในชุมชน ไม่สามารถหานอกพื้นที่ได้ แต่ในปัจจุบันปรากฏว่าจดทะเบียนที่เดียวแต่ขายทั่วประเทศ เป็นการหากินกับศพ ต้องจ่ายค่าสมาชิกทุกเดือน ถ้าเดือนนี้จ่าย แต่เดือนต่อไปไม่จ่าย เขาจะตัดสมาชิก เท่ากับว่าที่จ่ายมาทั้ง หมดเป็นโมฆะ อย่างนี้ถือว่ายุติธรรมกับประชาชนหรือไม่

เผย 4 กลโกงธุรกิจแชร์ลูกโซ่

สำหรับพฤติกรรมของแชร์ลูกโซ่ที่มีเหมือนกัน คือ 1.สร้างความน่าเชื่อถือให้ได้ว่าคือธุรกิจไม่ใช่การหลอกลวง จึงต้องอ้างทุกอย่างและตกแต่งข้อมูล ตัดแต่งข้อมูล ปลอมแปลงข้อมูลให้ได้ว่าเป็นธุรกิจไม่ใช่การหลอกลวง 2.เดินสายรับรางวัล ตระเวนซื้อรางวัลที่มีการแจก ยิ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแจกรางวัลยิ่งต้องไปรับ เพื่อนำรางวัลมาการันตี 3.ออกสื่อ ใช้สื่อในการโฆษณา เช่น ฮัจยีกรุ๊ป อ้างว่าลงในรัฐมอญ แต่จริงๆ แล้วเป็นกำมะลอ 18 มงกุฏ แต่สื่อนำเสนอข่าวว่าจะมีการลงทุนเมกกะโปรเจ็กต์ ในรัฐมอญ ชาวบ้านก็เชื่อหมดแล้ว

4.จะต้องมีการพาไปเที่ยว สัมมนา จัดประชุมใหญ่ เช่น โชกุน นั่งเครื่องบินเจ็ท ลงเรือยอร์ช ลงทุนแล้วชีวิตดี มีรายได้สูง เป็นแขกวีไอพี และ 5.มีขบวนการหน้าม้าในไลน์ จะมีไลน์ปลอม ใช้รูปสัตว์ชนิดต่างๆ หรือการ์ตูน จะมีการส่งสลิปให้เห็นว่ามีการรับเงิน ได้เงิน ยอดเข้าแล้ว ชักชวนคนสำเร็จแล้ว คนลงเงินแล้ว ถ่ายรูปกับเงิน ซึ่งทุกอย่างจะวางอย่างเป็นระบบ พอเราอยู่ในกลุ่มไลน์ 500 คน ซึ่งเป็นคนของเขาทั้งหมดเลย เราเป็นเหยื่อคนเดียว ก็ถูกหลอกแล้ว คล้ายกับการสะกดจิตหมู่ หรือล้างสมอง พอเสียเงินไปแล้ว ถูกหลอกแล้ว จะเอาเงินคืนอย่างไรก็ต้องหลอกคนอื่น ก็ไปทำขบวนการเริ่มต้นใหม่หลอกวนไป

สำหรับสิ่งที่จะทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไป คือ 1.ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 2.ต้องมีเจ้าภาพในการดำเนินคดี 3.ประชาชนต้องตื่นรู้ ซึ่งในปัจจุบัน แชร์ลูกโซ่เพิ่มมากขึ้น และแพร่กระจายไปในสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ วิธีหลีกเลี่ยง คืออย่าไปเชื่อคนใกล้ชิด หรือแม้แต่เพื่อนสนิทที่ชักชวนไปลงทุน

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิดใจผู้เสียหายสูญ 6 ล้านถูกหลอกลงทุน "ฟอเร็กซ์" ปั้นมืออาชีพบริหารเงิน-เทรดให้ 


นักกฎหมายชี้ "แชร์ลูกโซ่" แค่โครงกระดูกที่เปลี่ยนโคเวอร์ใหม่ 


อ้างจะรวยเป็นเศรษฐี-ปลดหนี้สิน เกษตรกรถูกลวงเล่นแชร์ "ปลูกมัลเบอร์รี่" 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง