เทียบ 3 คดีดังฆ่าคนตายแต่บทลงโทษต่างกัน

อาชญากรรม
19 มิ.ย. 61
19:46
8,159
Logo Thai PBS
เทียบ 3 คดีดังฆ่าคนตายแต่บทลงโทษต่างกัน
สังคมวิจารณ์เทียบคดีดังในอดีตที่ฆ่าคนตาย แต่บทลงโทษไม่ประหารชีวิต ด้านอัยการ ระบุขึ้นกับบริบทของสังคม โดยเคสล่าสุดอาจเป็นการเตือนให้สังคมเข้าใจว่าไม่ใช่จะบอกว่าไม่มีประหาร แต่จะไม่มีการประหารเกิดขึ้น

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบการลงโทษในคดีฆ่าคนตาย คดีผลลัพธ์เหมือนกัน คือคนถูกฆ่าเหมือนกัน และเป็นคดีที่สังคมมองว่าสะเทือนขวัญ โหดเหี้ยมเหมือนกัน แต่สุดท้ายบทลงโทษต่างกัน ยกตัวอย่าง 3 คดีดังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

คดีแรกฆ่าน้องแก้มโยนศพทิ้งหน้าต่างรถไฟ ผู้ก่อเหตุชื่อเกมส์ คำบรรยาฟ้องของอัยการระบุว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของการรถไฟ มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร แต่กลับฉวยโอกาสและฆ่าผู้ตาย โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย กระทำอย่างโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม

คดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ศาลให้เหตุผลว่า แม้จะรับสารภาพ แต่เพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ประหารชีวิตสถานเดียว นายเกมไม่ยื่นฎีกา คดีเป็นที่สิ้นสุด นี่คือคดีฆ่าน้องแก้มบนรถไฟสะเทือนขวัญคนทั้งสังคมเมื่อเดือน กรกฏาคม 2557

อีกคดีหนึ่งฆ่าน้องมะปิน บัณฑิต มศว. คดีนี้คนที่เห็นภาพวงจรปิดแบบไม่ผ่านการตัดต่อ คงจะรู้สึกได้ถึงความโหดเหี้ยมไม่ได้ต่างกับคดีฆ่าน้องแก้ม ผู้ก่อเหตุจู่ๆ ขี่มอเตอร์ไซต์มาเจอมะปิน เข้ามาจ้วงแทงหลายครั้งจนเสียชีวิตเพื่อจะชิงไอโฟนเครื่องเดียว คดีนี้ศาลอุทธรณ์เพิ่งตัดสินไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลดโทษจากประหารชีวิต เหลือจำคุกตลอดชีวิต

ศาลให้เหตุผลว่าแม้สิ่งที่จำเลยกระทำเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นภัยต่อสังคม มีประวัติถูกดำเนินคดีหลายคดี แต่จำเลยให้การรับสารภาพโดยละเอียด เป็นประโยชน์ต่อตำรวจและยอมรับผ่านสื่อว่า สำนึกผิด มีเหตุบรรเทาโทษ คดีนี้ยังไม่จบ สู้กันต่อในชั้นฎีกา แต่ได้เห็นประเด็นว่า การรับสารภาพและสำนึกผิด มีผลต่อบทลงโทษ แม้พฤติกรรมจะดูเหี้ยมโหด

อีกคดีสะเทือนขวัญเปรี้ยวฆ่าหั่นศพแอ๋ม ศาลชั้นต้นตัดสินไปเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ พิพากษาจำคุกเปรี้ยวตลอดชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือ 1 ใน 3 จำคุก 34 ปี 6 เดือน

ศาลพิเคราะห์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการทำร้ายร่างกายผู้ตาย และเกิดต่อสู้มีปากเสียงกันบนรถ บางช่วงผู้ต้องหาคิดจะปล่อยผู้ตายลงจากรถ แต่ผู้ตายข่มขู่และผู้ต้องหาเกิดความกลัว ทำให้ปิดปากปิดจมูกอย่างรุนแรง และใช้ถุงพลาสติกคุมหัวผู้ตาย

พฤติการณ์นี้ศาลมองว่าไม่ใช่พฤติการณ์ของการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นการฆ่าโดยเจตนา คดีนี้ยังอยู่ในชั้นต้น แต่ก็ได้เห็นว่าพฤติการณ์ของคดีมีผลกับบทลงโทษ ว่าไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่

คดีที่ยกมาเทียบเคียง สังคมอาจมองว่าโหดเหี้ยมเหมือนกัน แต่ในมิติทางกฏหมายบทลงโทษต่างกันได้
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า ตามลักษณะในตัวกฎหมายฆ่าคนตายในมาตรา 288 มีโทษ 3 ชนิดคือมีโทษ ประหาร จำคุกตลอดชีวิต และจำคุก 20 ปี เป็นขั้นตอนที่ให้ศาลใช้ในการพิจารณา แต่พอมาถึงมาตรา 289 ฆ่าโดยไตรตรองไว้ก่อน และฆ่าทารุณโหดร้าย อย่างกรณีที่เพิ่งประหารชีวิตไปที่แทงคนตาย 20 กว่าแผลกว่าจะเสียชีวิตคงทรมาน

และถามว่าถ้ามีโทษประหารในสังคมไทยหรือไม่ ผมมองว่าในมุมญาติคนตายอย่าไปละเลย และอาจจะเป็นการเตือนให้สังคมเข้าใจว่าไม่ใช่จะบอกว่าไม่มีประหาร และจะไม่มีการประหาร เพราะถ้าพฤติกรรมรุนแรงเราก็เข้าใจ แต่ทั่วโลกเขาอยากยกเลิก แต่ประเทศเจริญแล้วไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด แล้วแต่บริบทของสังคม 




อ่านข่าวเพิ่มเติม

คนแรกในรอบ 9 ปี “ฉีดยาพิษ” ประหารชีวิต นักโทษฆ่าชิงทรัพย์

7 พฤติกรรม "ฆ่า" แบบไหนที่ต้องรับโทษประหาร

รมว.ยุติธรรมเรียกถกด่วน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ หลังประหารนักโทษ

2 ทนายเห็นแย้ง ควรใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง