เตือนผู้ปลูกสับปะรดรายใหม่ "ส่อเจ๊ง" แบกต้นทุนไร่ละ 1.5 หมื่นบาท

สิ่งแวดล้อม
20 มิ.ย. 61
16:33
3,506
Logo Thai PBS
เตือนผู้ปลูกสับปะรดรายใหม่ "ส่อเจ๊ง" แบกต้นทุนไร่ละ 1.5 หมื่นบาท
เกษตรกร-กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยอมรับสับปะรดล้นตลาด ราคาลดฮวบหน้าสวนขายแค่ 3-4 บาทจากเดิม 10-15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ยอดส่งออกขายในห้างดังก็ต้องลดตาม พร้อมเตือนเกษตรกรรายใหม่กระโดดเข้าวงจรปลูก ต้นทุนสูง 10,000 - 15,000 บาทอาจเกิดปัญหา

 ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์เกษตรกรในจ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากสับปะรดราคาตกต่ำในช่วงนี้ โดยนายสุพจน์ พันสุภะ ผู้ปลูกสับปปะรดภูแล “ไร่สังวาลย์” จ.เชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ของราคาสับปะรดภูแลที่ตกต่ำส่วนหนึ่งมาจาก ช่วงเดือน พ.ค.- ปลาย ก.ค.จะมีผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ที่ออกสู่ตลาดทั้ง ทุเรียน เงาะ จึงทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคผลไม้ดังกล่าวมากกว่าสับปะรด ประกอบกับผลผลิตสับปะรดที่มีปริมาณมากเนื่องจากมีเกษตกรที่ปลูกสับปะรดมากขึ้น ราคาสับปปะรดขณะนี้ ไซส์ใหญ่อยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 1-2 บาท จากประมาณ 8 บาท ขณะที่ไซส์เล็กอยู่ที่ 4-5 บาท จากราคาไม่ต่ำกว่า 10 บาท ซึ่งขณะนี้ราคาลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ ผลผลิตสับปะรด จ.เชียงราย รวมจาก 50 ล้ง ผลผลิตต่อวันอยู่ที่ 100 ตัน ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตจำนวนมาก จึงทำให้ราคาตกต่ำ


ราคาขายสับปะรดหน้าสวนอยู่ที่ 3-4 บาท จากเดิม 10-15 บาท แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ผู้ที่ปลูกในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะต้นทุนปลูกอยู่ที่ไร่ละ 10,000 - 15,000 บาท แต่ราคาที่ต่ำลงอย่างมาก ผู้ที่มีเงินทุนน้อย หรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาปลูกเพราะคาดว่าจะขายได้ราคาดีก็จะเดือดร้อนเพราะสับปะรดกว่าจะคืนทุนก็อย่างน้อย 2-3 ปี ตอนนี้ผู้ที่ปลูกรายใหม่จะลำบากที่สุด

นายสุพจน์ กล่าวพิ่มเติมว่า ตลาดขายสับปะรดแต่เดิมมีทั้งตลาดในไทยและจีน โดยช่วง 2-3 ปีก่อน ส่งไปยังกรุงเทพฯซึ่งมีทั้งผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติจากเดิมส่งไปวันละ 10-20 กล่อง กล่องละ 15 กิโลกรัม ขณะนี้ 2-3 วันอยู่ที่ 5-10 กล่อง ยอดส่งเข้ากรุงเทพฯลดลงอย่างมากซึ่งผู้ส่งซื้อแจ้งว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวลดลง ขณะที่ตลาดส่งออกจีนก็ตรวจสอบราคาได้ว่าราคาอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ราคาส่งออกก็ลดลงตามตลาดในไทยที่ผลผลิตออกมาปริมาณมาก

ที่ไร่ของผมที่ปลูกสับปะรดประมาณ 100 ไร่ ตอนนี้ต้องปล่อยให้เน่าคาไร่ไปประมาณ 15 ไร่ หรือราว 20 ตัน เพราะไม่รู้จะไปขายให้ใคร ตอนนี้ขายไปก็ไม่คุ้มกับค่าแรงเก็บ ปล่อยให้เน่าดีกว่า

นายสุพจน์ กล่าวว่า แนวทางที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือเช่น การตั้งโรงงานแปรรูปสับปะรดในพื้นที่เป็นแนวทางที่ดีแต่ก็อาจจะมีปัญหาตลาดที่จะส่งไปขาย ดังนั้นแนวทางที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องขั้นตอนหรือเอกสาร ในการส่งออกไปต่างประเทศ นอกเหนือจากประเทศจีน เพราะยังมีตลาดที่รับซื้อเช่น ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าจะส่งออกไปขายได้ 

ยอดส่งซูเปอร์มาเก็ตลด หลังผลผลิตล้น

ขณะที่นางจันทร์หล้า ปิ่นตาสืบ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรดนางแลเพื่อการส่งออก อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีเกษตรกรเป็นสมาชิก 24 คนส่งขายผลผลิตสับปะรดนางแล และภูแล เป็นหลัก ซึ่งจากการดำเนินการมา 4 ปีโดยการส่งผลสับปะรดสดให้กับเครือบริษัทเซ็นทรัล นำไปวางขายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

วิธีการคือทางบริษัทฯ จะส่งรถมารับสับปะรดสัปดาห์ละ 2 รอบที่เซ็นทรัลเชียงราย โดยเดิมจะรับซื้อสับปะรดนางแล 100 ตระกร้า เฉลี่ยตระกร้าละ 15 กิโลกรัม และภูแล 75 ตระกร้า แต่หลังจากผลผลิตสับปะรดมีมากขึ้น ทำให้ล่าสุดมียอดการสั่งลดลงคือนางแลเหลือแค่ 70 ตระกร้า ส่วนภูแลเหลือ 30 ตระกร้าเท่านั้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ยอดการสั่งลดลง และเข้าใจทางห้างที่ลดปริมาณลง เพราะเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้

ปีนี้ยอดผลผลิตสับปะรดภูแลมีมากถึงขึ้นทะลัก ส่วนหนึ่งมาจากฝนฟ้าอากาศ และสภาพแวดล้อมดี ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ ที่เคยเจอทั้งฝนแล้ง อากาศร้อน ทำให้ฤดูผลิตนี้ พอรวมๆกันแล้วในพื้นที่เชียงราย มีสับปะรดที่สุกออกมาพร้อมๆกันมากจนล้น อย่างเกษตรกรที่อาจจะได้โควต้ารอบละ 40-50 ตระกร้า พอมีการสั่งลดลง วิธีการต้องเฉลี่ยกัน และส่วนที่เหลือก็จำหน่ายภายในพื้นที่ และขายที่หน้าสวน

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

เบื้องหลัง! "สับปะรด" ภูแลล้นตลาด

"แจกฟรี" รัฐ-เอกชนรับซื้อสับปะรดช่วยชาวไร่พ้นวิกฤติ 

รู้จัก 14 สายพันธุ์สับปะรดปลูกในไทย 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง