เคลียร์ขยะพิษ-พลาสติกตกค้างกว่า 2 แสนตัน หยุด! นำเข้าเพิ่ม

สิ่งแวดล้อม
21 มิ.ย. 61
15:35
1,756
Logo Thai PBS
เคลียร์ขยะพิษ-พลาสติกตกค้างกว่า 2 แสนตัน หยุด! นำเข้าเพิ่ม
กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งระงับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก หลังรองนายกฯ-มท.1 จี้แก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมสั่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ จัดการขยะพิษที่มีอยู่ในประเทศกว่า 2 แสนตัน

วันนี้ (21 มิ.ย.2561) นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จากปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสำแดงเท็จ กรมโรงงานตรวจสอบ พบโรงงานลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 โรงงาน มีคำสั่งให้ปิดแล้ว 21 โรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรการเร่งด่วน 3 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือ

  1. ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้นำเข้าจำนวน 5 โรงงาน เป็นการลงโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดเป็นระยะเวลา 1 ปี
  2. ผลักดันให้นำกลับขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับสู่โรงงานต้นทาง 
  3. หากนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกแล้วไปยังโรงงานที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับใบอนุญาต


นอกจากนี้จะมีการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงาน ตามมาตรา 32 วรรค 2 "ไม่ให้โรงงานใช้วัตถุดิบที่มาจากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างจริงจัง" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อวางแนวทางอย่างเป็นระบบ ทั้งยังควบคุมเรื่องกระบวนการขนส่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของกรมโดยใช้ GPS พร้อมทั้งให้ทางบริษัทจัดส่งบันทึกเส้นทางการเดินรถตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทางขนส่งอย่างเข้มงวด

ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า หลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ตั้งคณะทำงานพิเศษเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดและทุกช่องทาง ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน คาดจะมีการจัดตั้งแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อดำเนินการพิจารณาจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ

 


นายมงคล กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานในประเทศไทยที่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะพลาสติก 29 โรงงาน โดยปี 2560 มีการนำเข้าขยะพลาสติกถึง 150,000 แสนตัน ขณะที่ในครึ่งปี 2561 มีการนำเข้าขยะพลาสติกแล้ว 110,000 ตัน แต่ละปีมีการกำหนดปริมาณนำเข้าขยะพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 200,000 ตัน  โดยประเทศต้นทางส่วนใหญ่ คือ ฮ่องกงและสิงคโปร์ที่เป็นนายหน้ารับขยะพลาสติกจากแห่งอื่นๆ เพื่อนำเข้ามาในไทย 

ส่วนโรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใบอนุญาตปัจจุบันมี 7 โรงงาน โดยในปีนี้มีการนำเข้า 37,000 ตัน ส่วนเมื่อปี 2560 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 52,200 ตัน เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีทั้งที่มีประโยชน์มากและมีประโยชน์น้อย ซึ่งผู้ประกอบการจะนำขยะเหล่านี้เข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อไป ส่วนใหญ่จะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรเท่านั้นไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ กรมโรงงานได้ตรวจสอบและเคลื่อนย้ายออกจากประเทศแล้ว 14,000 ตัน

สำหรับ กรณี บริษัท จิ ซีรอกซ์ อีโคแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่มีการดำเนินการถูกต้อง แต่ถูกสั่งห้ามตามคำสั่งข้างต้น อธิบดีกรมการโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า หากยังต้องการนำเข้าเศษพลาสติก จะต้องขออนุญาตผ่อนผันจากคณะอนุกรรมการบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ เพื่ออนุญาตเป็นรายกรณี

ทส.หารือนอกรอบเตรียมแผนเร่งด่วนแก้ขยะพิษ

ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส.กล่าวภายหลังหารือนอกรอบร่วมกับตัวแทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจชุดใหม่ว่า เบื้องต้นก่อนกำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ต้องหารือถึงข้อกฎหมายที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวงก่อน แต่ถ้าไม่มีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้ได้ ก็จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44


จากการพูดคุยในระยะเร่งด่วนสรุปว่าจะยุติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติกเข้ามาเพิ่มเติมก่อน ส่วนขยะที่ลักลอบและสำแดงเท็จไม่ถูกกฎหมายจะต้องส่งคืนไปกำจัด รวมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบและสำรวจความต้องการใช้ขยะรีไซเคิล เพราะหากหยุดส่วนนี้ได้จะสามารถหยุดการนำเข้าได้

ขณะที่ประเทศไทยมีมาตรการกำจัดขยะพิษ โดยจะส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทำลายที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนขยะโทรศัพท์มือถือจะถูกส่งไปทำลายที่ประเทศสิงคโปร์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง