จิตแพทย์แนะข้อควรปฏิบัติ หลังหมูป่าออกจากถ้ำ

สังคม
9 ก.ค. 61
05:55
5,000
Logo Thai PBS
จิตแพทย์แนะข้อควรปฏิบัติ หลังหมูป่าออกจากถ้ำ
แพทย์หญิงอนัญญา สินรัชตานันท์ ได้เขียนบทความ ข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยในเหตุการณ์การติดถ้ำของทีมหมูป่าอะคาเดมี ในสถานการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์และไม่อยากจะเผชิญ

ทีมหมูป่าคือผู้ประสบภัยที่ต้องการการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ ฟื้นฟูสภาพกลับเข้าสู่วิถีชีวิตที่เคยดำเนินมาตามปกติ ซึ่งชุมชนและสังคมเป็นผู้ที่มอบความช่วยเหลือได้

ดังนั้นการพยายามหาแนวทางป้องกันแก้ไขการสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำแต่การถามหาคนผิดหรือการตำหนิกล่าวโทษไม่ทำให้เกิดผลดีแต่จะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์ของความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจเสียหายทุกคนควรได้เรียนรู้และเติบโตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯจึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้เกี่ยวข้องดังนี้

สื่อมวลชน

สิ่งที่ควรทำ

-การเสนอข่าวควรนำเสนอในลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความก้าวหน้าของสถานการณ์ เน้นการนำเสนอ ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ ไม่ควรตีความหรือใช้ความเห็นส่วนตัวในการนำเสนอข่าว


-สื่อสามารถนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยการให้ความรู้โดยผ่านเรื่องราวของผู้ที่เข้ามา ช่วยเหลือ เสียสละต่างๆ
-สื่อควรให้เวลาแก่ผู้ประสบภัยได้รับการประเมินและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจโดยทีมผู้เชี่ยวชาญก่อน จนกว่าจะปลอดภัยและเมื่อผู้ประสบภัยและครอบครัวพร้อมที่จะให้ข้อมูล

-สื่อควรมอบพื้นที่และเคารพความเป็นส่วนตัวให้เด็ก/โค้ชและครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน และปรับตัวให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

สิ่งที่ไม่ควรทำ


-การเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการสร้างให้เกิดอารมณ์ร่วมหรือดราม่า เพราะจะยิ่งทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวรู้สึก อินกับเหตุการณ์จนอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้รับข่าวสาร


-ข่าวไม่ควรนำเสนอรายละเอียดและข้อมูลที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของกลุ่มผู้ประสบภัยหรือเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์นี้

ผู้ประสบภัย (ทีมหมูป่า)

สิ่งที่ควรทำ

-ก่อนการออกมาจากถ้ำ เด็กและโค้ชควรได้รับการบอกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกในช่วงที่เด็กและโค้ชติดอยู่ในถ้ำ เน้นการให้ข้อมูลที่เป็นจริง โดยต้องระวังการเล่าที่พูดถึงอารมณ์ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ

-เมื่อเด็กและโค้ชออกมาสู่โลกภายนอก การฟื้นฟูสภาพร่างกายยังคงเป็นประเด็นสำคัญ

-ควรรีบให้เด็กและโค้ชกลับเข้าสู่ภาวะ/กิจวัตรประจำวันของชีวิตตามปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์


-มีการติดตามการปรับตัวของเด็กและโค้ชอย่างต่อเนื่องหลังจากกลับสู่ครอบครัวและชุมชน

-เด็กและโค้ชควรหลีกเลี่ยงการดูข่าวหรือสื่อโซเชียลที่มีการนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้นและมีการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่มีความรู้สึก/อารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบต่อเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง

สิ่งที่ไม่ควรทำ


-ไม่ควรให้เด็กและโค้ชต้องพูดหรือเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ าๆ ทั้งการออกสื่อ การสอบถามจากครอบครัวโรงเรียนและชุมชนเพราะเป็นอันตรายต่อการพัฒนาเติบโตของเด็ก

ครอบครัว


สิ่งที่ควรทำ

-ครอบครัวในขณะนี้ควรจะมีเวลาพักผ่อน ได้รับการบอกกล่าวถึงภาวะสุขภาพของเด็กเป็นระยะๆ

-หลังจากสามารถออกมาจากถ้ำได้แล้ว มีแหล่งให้คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพกายและใจของเด็ก โค้ช และครอบครัว

-ในช่วงกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ และสามารถตอบคำถาม พูดคุยได้ในกรณีที่เด็กอยากพูดคุย

โรงเรียนและชุมชน

สิ่งที่ควรทำ

-ควรมีพื้นที่ส่วนตัวให้แก่เด็กและครอบครัวเช่นกัน


-เพื่อนและครูในโรงเรียน ควรได้รับการเตรียมตัวรับเพื่อนๆกลับเข้าสู่การเรียนและกิจกรรมปกติของโรงเรียน

-การปลอบขวัญเป็นเรื่องทำได้ เพียงแต่พึงระวังไม่ให้กลายเป็นการให้รางวัล เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกสับสนมากขึ้น

-การให้ผู้ประสบภัยบอกเล่าประสบการณ์ควรเป็นในแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น จะแนะนำผู้อื่นอย่างไรในการดำรงชีวิตและต้องกระทำเมื่อผู้ประสบภัยพร้อม

-การให้อภัยจากการกระทำที่เกิดขึ้น

สิ่งที่ไม่ควรทำ

-ไม่ควรให้เด็กต้องเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ อย่าลืมว่าโค้ชและเด็กๆคือผู้ประสบภัย การเยียวยาทางกายและใจเป็นเรื่องสำคัญและควรทำเพื่อให้กลับเข้าสู่ชีวิตปกติ


-ไม่ควรพูดซ้ำเติม ให้เป็นตราบาป หรือ บังคับให้ต้องรู้สึกสำนึกบุญคุณ เนื่องจากผู้ประสบภัยเองก็มีความรู้สึกผิดในใจตนเองอยู่แล้ว

สังคม

สิ่งที่ควรทำ

-สังคมควรติดตามข่าวสารอย่างพอดี วิเคราะห์ข่าวที่ได้รับมาก่อนส่งต่อ ติดตามข่าวจากสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือในข้อมูล


-สังคมควรตั้งสติและดูแลจิตใจตนเองในขณะเสพข่าวสาร เพื่อไม่ให้จิตใจหวั่นไหวจนเกินพอดี

สิ่งที่ไม่ควรทำ

-อย่าเชื่อข่าวที่แชร์กันในโซเชียลหรือไลน์

-ไม่ควรมีการตั้งประเด็นที่จะนำไปสู่การไล่หาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ เพราะทีมหมูป่า เป็นผู้ประสบภัย ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกคนที่เข้าล้วนไปด้วยความตั้งใจดี การเรียนรู้จากเหตุการณ์

ท้ายที่สุดของบทความระบุว่า รางวัลที่ทุกคนจะสามารถมอบให้แก่กันได้ คือ การได้ทบทวนตนเอง เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขได้อีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ ทั้งในเรื่องการสอนและเตรียมตัวให้เด็กสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้เบื้องต้นเมื่อประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน การอยู่ร่วมกันเป็นทีม การทำงานกันเป็นทีม เป็นอีกปัจจัยความสำเร็จที่เราสามารถเราสามารถเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์นี้

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง