"ผมไม่ใช่ฮีโร่" ผบ.หน่วยซีล เล่าวินาทีปฏิบัติภารกิจถ้ำหลวง

สังคม
11 ก.ค. 61
19:26
6,618
Logo Thai PBS
"ผมไม่ใช่ฮีโร่" ผบ.หน่วยซีล เล่าวินาทีปฏิบัติภารกิจถ้ำหลวง
ผบ.หน่วยซีล เล่าวินาทีปฏิบัติภารกิจช่วยหมูป่าอะคาเดมี ขณะที่หน่วยซีลต้องต่อสู้กับสภาพภายในถ้ำที่มืดสนิท และมีทางแคบเป็นโคลน รวมถึงโขดหินที่ผ่านได้ยาก แต่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อต่อสู่กับฝนที่ตกหนักและออกซิเจนที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (11 ก.ค.2561) พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ แถลงถึงการปฏิบัติภารกิจช่วยทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวง โดยระบุว่า "ผมไม่ใช่ฮีโร่ แต่ทุกคนคือฮีโร่" ภารกิจช่วยทีมหมูป่าครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยทุกคน ในส่วนของหน่วยซีล มีภารกิจและได้รับการฝึกมาในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ อีกทั้งกองทัพเรือมีสโลแกนว่า "กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน" เป็นสิ่งที่กองทัพเรือยึดมั่น เมื่อมีการขอให้ส่งกำลังพลหน่วยซีลเข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำ ทันที

หน่วยซีลชุดแรกจำนวน 20 นาย เดินทางจากสัตหีบ เวลา 00.30 น. ถึง จ.เชียงรายเวลา 02.00 น. และเดินทางไปยังถ้ำหลวงทันที ถึงหน้าถ้ำ เวลา 04.00 น. เข้าสำรวจเส้นทางจนถึงสามแยก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เดิมหน่วยกู้ภัยเดิมไม่สามารถผ่านไปได้ 

เมื่อหน่วยซีลทะลุช่องทางแล้ว นักดำน้ำไปถึงหาดพัทยา จนพบคราบและรอยเท้า แต่ยังไม่พบทีมหมูป่า จึงดำน้ำต่อไป ทั้งนี้ ด้วยสภาพถ้ำที่มืดสนิท จึงทำให้ต้องถอยกลับมาเตรียมอุปกรณ์ใหม่ และด้านนอกก็มีฝนตกหนัก ดังนั้น หน่วยซีลจึงค่อยๆ ถอยออกจนถึงโถง 3

ในช่วงนั้น มีรายงานมาเรื่อย ๆ แต่ไม่รู้ว่าภารกิจมันจะยากขนาดไหน ผมเลยขออนุญาตบินมาดูที่เชียงราย ถึงพื้นที่ 6 โมงเย็น ลงไปดูที่โถง 3 พยายามลุยสูบน้ำออก ลุยทั้งคืน สุดท้ายเราสู้น้ำไม่ได้ เราเลยเอากำลังพลถอยร่นออกมาจากถ้ำ ทำให้ได้เห็นความยากลำบาก

พล.ร.ต.อาภากร กล่าวว่า ได้ขอกำลังพลระลอกที่ 2 และ 3 มาช่วย สุดท้ายสู้น้ำไม่ได้ ต้องถอยร่นเรื่อย ๆ จากโถง 3 มาถึงปากถ้ำ ช่วงนั้นความหวังเหลือน้อยแล้ว วันนั้นเป็นวันที่ 7-8 กังวลว่าน้องๆ จะอยู่ในสภาพอิดโรย จึงไม่ละความพยายาม ซึ่งตอนนั้นก็มีหน่วยอื่นมาช่วยสูบน้ำทั้งภาครัฐและเอกชน

เราก็สู้กับน้ำประมาณ 2-3 วัน แต่น้ำลดไปแค่วันละ 1-2 ซม. เราได้เข้าไปดู จากโถง 1 สุดท้ายเราก็มุดน้ำดำลงไปถึงโถง3 เราพบว่าโถง 3 ยังมีที่ว่างที่จะตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าได้ แต่การเข้าจากปากถ้ำไปโถง 3 สาหัสมาก ต้องลุยน้ำ ขึ้นโขดหิน แล้วยังต้องปีน แต่เราจำเป็นต้องสู้ ถ้าเราไม่สู้ความหวังช่วยน้องก็ไม่มี

สุดท้ายจึงตัดสินใจสู้กับน้ำ โดยหาขวดอากาศมาจำนวนมาก ในช่วงแรกได้รับบริจาค 200 ขวด ต่อมาได้รับพระราชทานเพิ่มเติมอีก 200 ขวด เป็น 400 ขวด รวมถึงอุปกรณ์ดำน้ำที่คิดว่าจะช่วยได้ แล้ววางขวดอากาศเรียงไปในน้ำ แต่ละคนต้องแบกขวดอากาศเข้าถ้ำไปคนละ 3 ขวด เมื่อเข้าไปแล้ว ขวดไหนหมดก็เอาไปเปลี่ยน เพื่อที่จะได้หาทีมหมูป่าและเข้าช่วยเหลือได้ โชคดีที่การปฏิบัติการครั้งนี้มีเพื่อนนานาชาติมาช่วย ทั้งนักดำน้ำจากอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ยุโรป อังกฤษ เยอรมนี และฟินแลนด์ 

ผบ.หน่วยซีล ระบุว่า หน่วยซีลได้ประเมินว่าทีมหมูป่าเมื่อเดินถึงสามแยกแล้วคาดว่าจะเลี้ยวซ้าย จึงได้วางเชือกนำทาง และแบ่งนักดำน้ำเป็นประเทศออกสำรวจประเทศละ 200 เมตร แบ่งไปสำรวจเรื่อย ๆ  เมื่อแต่ละประเทศช่วยกันต่อระยะ สุดท้ายก็มีนักดำน้ำจากอังกฤษรับช่วงต่อแล้วดำน้ำไปเจอทีมหมูป่า ทั้ง 13 คน ในถ้ำและถ่ายภาพมาให้ได้ชมกัน ซึ่งตอนแรกคิดว่าทีมหมูป่าจะอยู่ในสภาพอิดโรย แต่น่าสนใจว่าทั้ง 13 คน อยู่ในถ้ำกันได้อย่างไร โดยนักดำน้ำชาวอังกฤษเล่าว่า

พอไปถึงที่ ๆ ทีมหมูป่าอยู่ เขาก็วิ่งเข้ามาหาเลย คงต้องไปซักถามน้องๆ กันทีหลังว่าเขาอยู่กันอย่างไร

หลังจากพบทั้ง 13 คนแล้ว ก็ได้ส่งหน่วยซีล 4 คนไปในถ้ำหลวง หนึ่งในนั้นมี พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือหมอภาคย์ ที่มีขีดความสามารถด้านนี้เข้าไปพร้อมกับหน่วยซีลที่ผ่านการเรียนด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ 1 นาย และหน่วยซีลอีก 2 นาย รวม 4 นายเข้าไปถึงตัวทีมหมูป่าทันที 

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแจ้งว่าทีมหมูป่าจะอยู่ในถ้ำได้นานเป็นเดือน แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังดูช่องทาง คิดหลากหลายวิธี สุดท้ายก็เจอข้อจำกัด เนื่องจากอากาศในถ้ำน้อยลง ปริมาณออกซิเจนน้อยลง วันแรกตรวจสอบพบว่าออกซิเจนมีร้อยละ 15 ทำให้เจ้าหน้าที่กังวลมาก ทีมงานก็เร่งหาออกซิเจนไปเติม อีกเรื่องคือ ฝนที่ตกลงมา เราสู้กับธรรมชาติ เมื่อฝนมา อะไรก็ต้านทานไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรเมื่อถ้ำมีน้ำเต็มร้อยเปอร์เซ็น ออกซิเจนค่อย ๆ ลดลง การเจาะถ้ำจะทำได้หรือไม่ เมื่อความหนาผนังถ้ำ 500 เมตร

ทั้งนี้ ทีมดำน้ำได้สรุปแผนโดยให้นักดำน้ำมืออาชีพของโลกที่มารวมอยู่ในบ้านเราช่วยกัน สุดท้ายก็นำทีมหมูป่าออกมาได้ครบทุกคน รวมทั้งหน่วยซีลที่ไปอยู่กับน้องอีก 4 คน ก็กลับมาอย่างปลอดภัย  

 ภารกิจตรงนี้ถือว่ายากมาก ยากจริง ๆ เพราะเราไม่เคยเจอ

ต่อจากนี้ต้องมีการพัฒนาบุคลากรของเราเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภัยพิบัติมาเยอะมาก ที่ภูเก็ตเรือก็ล่ม ประเทศไทยเจอภัยพิบัติแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ กองทัพเรือก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตามที่เราบอกว่า "กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน"

สำหรับขั้นตอนการนำทีมหมูป่าออกจากถ้ำ ได้ให้ทีมหมูป่าใส่หน้ากากดำน้ำฟูลเฟซแมสและเดรสสูท และต่อด้วยขวดอากาศ และมีนักดำน้ำประกบเป็นคู่ออกมา ซึ่งต้องใช้วิธีการที่ไม่ให้หมูป่าตื่นตระหนัก เป็นการนำพามาเรื่อยๆ ที่เห็นอยู่ในเปล เมื่อทีมหมูป่าขึ้นมาถึงโถง 3 แล้ว มาถึงปากถ้ำ ต้องใช้แรงพอสมควร ที่เห็นในเปลเพราะไม่ต้องการให้เด็กเดิน กลัวจะเหนื่อย บางคนพอเจอความหนาว ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก โถง 3 ก็วัดอาการ โถง 2 ก็วัดอาการ บางคนมีสติ บางคนก็นอนหลับไป ก็ให้อากาศมา ทีมหมูป่าก็แค่หายใจ นอนหลับหายใจมา มีคนช่วยนำพามาแค่นี้ อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรก็แค่นี้ ง่ายมาก โดยใช้ผ้าห่มฟรอยด์ห่อตัวมา เพราะอุณหภูมิต่ำมาก 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง