รอชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" นานที่สุดในศตวรรษที่ 21

Logo Thai PBS
รอชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" นานที่สุดในศตวรรษที่ 21
27-28 ก.ค.นี้ เตรียมชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" โดยคราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 มองเห็นเกือบทั่วโลก ส่วนไทยมองเห็นทั่วทุกภาค สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลา 00.14 – 06:10 น.

วันนี้ (19 ก.ค.2561) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. กล่าวว่า  ในคืนวันอาสาฬหบูชาจะเกิด 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ตลอดคืน 27 ก.ค. จนถึงรุ่งเช้า 28 ก.ค.นี้ ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ก่อนโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ทำให้สว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ

ในคืนเดียวกันยังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบปี คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี นับว่าเป็นคืนพิเศษ สามารถเห็น ดาวอังคารสีแดง เคียงข้างดวงจันทร์สีแดง ได้ในคืนดังกล่าว 

โดยปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง พาดผ่านทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลา 00.14 – 06:10 น.

ประเทศไทยมองเห็นคราสเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 02.30 – 04.13 น. นานถึง 1 ชั่วโมง 43 นาที นับเป็นจันทรุปราคาที่เต็มดวงยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นจันทรุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 406,086 กิโลเมตร นับเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ที่ดวงจันทร์สีแดงอิฐ มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย

ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คืนวันที่ 27 ก.ค.นี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวอังคาร ที่จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 31 ก.ค.นี้ที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร จากระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร เป็นการโคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ดาวอังคารจะสว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ สังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้าในวันถัดไป

ทั้งนี้ สดร.จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกและจันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันที่ 27- 28 ก.ค.นี้ ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่  หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา  หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา และลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา รวมทั้งเครือข่ายดาราศาสตร์ 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.NARIT.or.th 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง