ธุรกิจ “กีต้าร์” ทรงตัว คาดอีก 20 ปีคนเล่นลดฮวบตามอเมริกา

ไลฟ์สไตล์
24 ก.ค. 61
15:20
4,873
Logo Thai PBS
ธุรกิจ “กีต้าร์” ทรงตัว คาดอีก 20 ปีคนเล่นลดฮวบตามอเมริกา

ตกเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนใจคนรักกีต้าร์ เมื่อ “Gibson” บริษัทผลิตกีตาร์ชื่อดังของโลกและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นล้มละลาย หลังประสบวิฤตทางการเงิน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ “วนรัตน์ ทักข์ทานต์” ตัวแทนจำหน่าย Gibson เจ้าเดียวในไทย ถึงวิกฤตดังกล่าวและความอยู่รอดของธุรกิจกีต้าร์ในยุค 4.0

วนรัตน์ เล่าว่า บริษัท “Gibson” มี 2 สายการผลิต คือ เครื่องดนตรี และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Onkyo, Philip audio, ลำโพงสตูดิโอ ยี่ห้อ Krk ที่เริ่มจำหน่ายสินค้าเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบปัญหาทางการเงินและเป็นหนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขายกิจการ

 

ส่วนของกีต้าร์ Gibson นั้น ตัวแทนจำหน่ายเจ้าเดียวในไทย ยืนยันว่า บริษัทยังมีกำไรทุกปี และเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาสหรัฐฯ เพิ่งส่งสินค้าเข้ามาไทย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ชื่อถูกดึงเข้าไปกับส่วนของการจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบปัญหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรีไฟแนนซ์ด้วยเจ้าของและผู้บริหารเดิม หากภายใน 9 เดือน สามารถจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ได้ ร้อยละ 60-70 ก็จะช่วยเพิ่มทางรอดของบริษัทอีก 2-3 ปี เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป

Gibson ทั้ง 2 ส่วนมีเจ้าของเดียวกันและใช้เงินก้อนเดียวกันในการบริหารงาน ซึ่งหนี้ที่เกิดจาก Gipson อิเล็กทรอนิกส์ที่เจ๊ง กระทบกีต้าร์ด้วย การขยายสายการผลิตในสิ่งที่เขาคิดมันขายไม่ได้ เขาถนัดกีต้าร์ แต่ทำสิ่งที่ไม่ถนัด ทำให้เงินจม จ่ายหนี้ไม่ได้ ยืนยันว่า Gibson ยังขายดี มือกีต้าร์เมืองไทยก็ยังใช้เยอะ

ภาวะเศรษฐกิจ กระทบธุรกิจกีต้าร์ทรงตัว

คนไทยที่เริ่มเล่นกีต้าร์ ร้อยละ 90 จะเล่นกีต้าร์โปร่ง จากนั้นจะขยับไปเล่นกีต้าร์ไฟฟ้า ซึ่งตลาดกีต้าร์โปร่งยังเติบโตดีกว่ากีต้าร์ไฟฟ้า และตลาดใหญ่กว่าถึง 10 เท่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 30-45 ปี ยอดขายส่งและหน้าร้าน Music concept อยู่ที่เดือนละ 700-800 ตัว

วนรัตน์ เล่าย้อนถึงสถานการณ์ธุรกิจกีต้าร์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักดนตรีอาชีพ ร้อยละ 80 อีกร้อยละ 20 จะเป็นกลุ่มคนที่เล่นยามว่าง หรืองานอดิเรก 20 ปีต่อมาสัดส่วนกลุ่มผู้ซื้อทั้ง 2 กลุ่มจะเท่ากัน และช่วง 10 ปีหลัง กลุ่มผู้ซื้อที่เล่นกีต้าร์เป็นกิจกรรมยามว่างเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 70 และนักดนตรีอาชีพ ร้อยละ 30 เนื่องจากตลาดของกลุ่มคนทั่วไปขยายตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ยอดขายกีต้าร์ช่วง 3 ปีหลัง เริ่มทรงตัว ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ทำให้ลูกค้าอาจจะเลือกซื้อกีต้าร์ที่ตัวเองใช้เป็นประจำเพียง 1 ตัว จากเดิมที่อาจจะมีคนละ 2-3 ตัว

“กีต้าร์” ไม่มีทางเรียนลัด อยากเก่งต้องฝึก

“คนไทยไม่ได้เล่นดนตรีลดลง” วนรัตน์ ตั้งข้อสังเกตจากปริมาณโรงเรียนสอนดนตรีที่ยังเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ปกครองต้องการให้เด็กมีความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา งานศิลปะ แตกต่างจากเด็กอเมริกันที่เล่นกีต้าร์ลดลง มีการเคราะห์ว่า การฝึกเล่นดนตรีให้สำเร็จต้องมาจากเป้าหมายที่ชัดเจน พบว่าคนที่หัดเล่นกีต้าร์ใหม่จะทำได้สำเร็จและเล่นต่อเนื่อง เฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 เพราะดนตรีไม่สามารถเรียนลัดได้ สวนทางกับกระแสดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่าง EDM

ดนตรีไม่มีทางเรียนลัด ไม่เหมือนเลข ภาษาที่ยากยังไงก็เรียนลัดได้ โยนลูกบอลหนึ่งลูกเด็กยังวิ่งไปเตะได้ แต่ให้กีต้าร์แถมครูบางครั้งเด็กก็ดีดไม่ได้ เป็นความพยายามที่น้อยลงของคนยุคนี้ ประกอบกับสมัยก่อนไม่มีงานอดิเรกมากนัก ถ้าอยากเล่นกีต้าร์ก็ฟังเพลงร็อก วง Guns N' Roses เท่มากก็ตั้งใจซ้อมตาม แต่ทุกวันนี้ ซ้อม 15 นาทีก็กดมาดูเฟซบุ๊ก

ไทยตามเทรนด์อเมริกา คาดอีก 10-20 ปี เด็กเล่นกีต้าร์ลดฮวบ

เมื่อถามถึงแนวโน้มเด็กไทยจะเล่นกีต้าร์ลดลงตามอย่างอเมริกาหรือไม่ วนรัตน์ วิเคราะห์ว่าที่ผ่านมาไทยตามเทรนด์อเมริกามาโดยตลอด มีความเป็นไปได้ที่เด็กไทยอาจจะเล่นกีต้าร์ลดลงในอีก 10-20 ปี เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้คนเล่นกีต้าร์ คือ ไอดอล ในอเมริกาขณะนี้้เหลือไอดอลน้อยมาก เช่น จอห์น เมเยอร์, เทย์เลอร์ สวิฟต์ ขณะที่ไทยยังมีอีกหลายวงไอดอล เช่น Bodyslam, Big Ass, POTATO, Retrospect, Cocktail จึงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตกระแสเทรนด์ดนตรีโลก อย่างดนตรี POP Hip Hop และ EDM จะเติบโตเพิ่มขึ้นในไทยแน่นอน

 

ผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่ตลาดกีต้าร์ที่เคยได้รับความนิยมอย่างบริเวณหลังกระทรวงกลาโหม พบว่า ลูกค้ามาเลือกซื้อกีต้าร์ลดลงอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มปรับเปลี่ยนไปจำหน่ายสินค้าอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น เครื่องแบบข้าราชการ เสื้อผ้า

ลูกจ้างในร้านจำหน่ายกีต้าร์แห่งหนึ่งย่านหลังกระทรวงกลาโหม บอกว่า ขณะนี้วัยรุ่นมาเลือกซื้อกีต้าร์ลดลง ยอดขายหน้าร้านเฉลี่ยวันละไม่เกิน 3 ตัว 

ขณะที่ ส.ต.ต.สันติภาพ บัวศรีทอง วัย 27 ปี บอกว่า ตัวเองเข้ามาเลือกซื้อกีต้าร์ไฟฟ้าในห้างสรรพสินค้า เพราะสะดวกและใกล้ที่ทำงาน ราคากีต้าร์ที่สามารถซื้อได้อยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ส่วนแรงบันดาลใจให้หัดเล่นดนตรี มาจากวงไอดอลอย่างซิลลี่ฟูล จากนั้นรวมวงกับเพื่อน 5 คน เพราะชื่นชอบการเล่นแบบเต็มวง และมองว่าความนิยมกีต้าร์ไฟฟ้าที่ลดลง อาจจะมาจากกฎหมายการควบคุมเสียง ทำให้วงดนตรีในร้านอาหาร หรือสถานบันเทิงปรับเปลี่ยนมาใช้กีต้าร์โปร่ง กลองไฟฟ้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เทรนด์ฮิตกีตาร์ไทย หมุนตามโลก” 

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ งัดกลยุทธ์ดึงเด็กจีนเรียนไทย 

”เอกชัย เจียรกุล” กว่าจะถึงแชมป์กีต้าร์คลาสสิกโลก 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง