นักวิชาการ เชื่อพรรคใหม่เป็นได้แค่ตัวประกอบการเมือง

การเมือง
2 ส.ค. 61
09:53
846
Logo Thai PBS
นักวิชาการ เชื่อพรรคใหม่เป็นได้แค่ตัวประกอบการเมือง
นักวิชาการ ระบุ การชิงฐานเสียง ส.ส.เก่าเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นคนอายุ 60 ปีขึ้นไป นิยมเลือก ส.ส.เก่าที่เคยมีผลงาน

หลังการเปิดจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ 114 พรรค มีพรรคการเมืองอยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ 9 พรรค และมีสถานะเป็นพรรคการเมืองแล้ว 2 พรรค

ประเด็นที่สนใจ คือพลังของกลุ่มการเมืองที่กำลังจะเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์เหล่านี้ มีตำแหน่งแห่งที่ในสนามการเมืองอย่างไร ทั้งความคาดหวังที่จะได้ ส.ส. และการผลักดันบุคคลขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อ่านเพิ่มเติม พรรคเก่า-ใหม่ สังเวียนเลือกตั้ง ’62

พรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค คือพรรคหนึ่งที่ถูกจับตาเพราะเป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ โดยกลุ่มก่อตั้งมีทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)และสมาชิกกลุ่มนิติราษฏร์ที่เคยผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคด้วย

จุดยืนของพรรค นายธนาธรประกาศชัดเจนระหว่างการประชุมพรรคครั้งแรก ว่าจะเสนอชื่อตนเองเป็นนายกฯ และชูแนวคิดฉีกรัฐธรรมนูญ ปี’60 และนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองยุค คสช.

 

ส่วนกลุ่มการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ประเมินกลุ่มที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1. พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.เป็นผู้ก่อตั้ง

โดยเฉพาะ นายสุเทพ ที่ถูกจับตาว่าจะเป็นกุนซือหลักในการดึงอดีต ส.ส. และนักการเมืองเก่าเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และยังมีฐานเสียงอยู่ในภาคใต้ รวมถึงผู้ร่วมอุดมการณ์ กปปส.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามการประกาศร่วมงานกับพรรคการเมืองของนายสุเทพ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ “ตระบัดสัตย์” เพราะเคยประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ปี’57



2. พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้า ชูนโยบายหนุนระบบคุณธรรม และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะเชื่อว่าพล.อ. ประยุทธ์ เป็นคนดี-มีความสามารถ เหมาะที่จะเป็นนายกฯคนกลาง ทั้งนี้พรรคประชาชนปฏิรูปมีนายไพบูลย์เท่านั้น ที่เคยมีบทบาททางการเมืองโดดเด่น เช่น เคยเป็นอดีต ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ล่าสุดเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาล คสช.

และ 3.พรรคพลังประชารัฐ ที่มีนายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นแกนนำหลัก ซึ่งมีความสนิทสนมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แม้ขณะนี้ยังไม่มีตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่ชัดเจน แต่กลุ่มสามมิตรที่เดินสายดูดผู้สมัคร ส.ส.แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐและหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

ส่วนอีกกลุ่มที่คาดว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. หลังเลือกตั้ง คือพรรคพลังพลเมืองไทย ที่มีนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค เพราะรวบรวมอดีตนักการเมืองรุ่นเก่าเป็นจำนวนมาก ทั้งอดีต ส.ส.ภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น นายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ อดีต ส.ส. อุดรฯ พรรคความหวังใหม่ 6 สมัย ตั้งแต่ปี '26-ปี '39 และนพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล เป็นส.ส.สมัยแรก ปี ’35 พรรคความหวังใหม่ และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ปี’44 ก่อนถูกตัดสิทธิทางการเมืองในกลุ่มบ้านเลขที่ 111 เป็นต้น เนื่องจากนายสัมพันธ์ เคยสังกัดพรรคการเมืองมาหลายพรรค จึงมีคอนเนกชันกับนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนมาก และมีโอกาสที่จะใช้ฐานเสียงจากผู้สมัครเหล่านี้ชิงเก้าอี้ ส.ส.

พรรคการเมืองใหม่ถึงไหนแล้ว ?

กลุ่มการเมืองส่วนใหญ่ อยู่ระหว่างการจัดหาสมาชิกและจัดประชุมครั้งแรก ส่วนกลุ่มการเมืองที่ถูกจับตาเป็นพิเศษอย่างพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีกลุ่มสามมิตรประกาศตัวหาสมาชิกลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคนี้อย่างชัดเจน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการจัดประชุมพรรคและยื่นจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดยศ.เอนก และนายสุเทพ เตรียมประชุมพรรควันที่ 5 ส.ค. นี้ ขณะที่พรรคทางเลือกใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคอนาคตใหม่ อยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งกลุ่มการเมืองที่ดำเนินการถึงขั้นตอนนี้แสดงถึงความพร้อมที่มีต่อการเลือกตั้ง เพราะเท่ากับว่ามีฐานสมาชิกมากพอที่จะยื่นจดทะเบียนและพร้อมจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป


ส.ส.เก่ากวาดที่นั่ง เหตุคนใช้สิทธิคือผู้สูงอายุ

รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ช่วงอายุประชากรมีความสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง เพราะคนอายุ 18-19 ปี ไม่อยู่ในภูมิลำเนา และมีโอกาสน้อยที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเลือกตั้ง ขณะที่คนที่อยู่ในภูมิลำเนาส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่ไปเลือกตั้งจริงคือคนอายุ 60 ปีขึ้นไป

ยกตัวอย่าง กรณีพรรคอนาคตใหม่ ต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.เขตมากพอที่จะนำไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะจะหวังมีที่นั่ง ส.ส.เขตไม่ได้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีฐานเสียงของ ส.ส.เก่า ที่เป็นคนสูงอายุ

คนอายุ 18-19 ปี มีสิทธิเลือกตั้งราว 10 ล้านคน สมมติมาใช้สิทธิ 6 ล้านคน ต้องได้คะแนนมากกว่า 3 ล้าน ถึงจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20 คน แต่จะได้คะแนนรวมสูง ต้องส่ง ส.ส.ครบทุกเขต

ถอดบทเรียนพรรคใหม่ 1. หวังจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องส่ง ส.ส.เขตครบ ในพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมาย 2. เงินทุนบริหารพรรค แม้ไม่ใช้เงินซื้อตำแหน่ง-ซื้อเสียง แต่ต้องมีทุนในการจัดการ ไม่ใช่แหล่งทุนเดียวใช้ได้กับทั้งประเทศ

3. นโยบายต้องชัดเจน ไม่ใช่แค่แนวคิดนามธรรม และจะหวังได้คะแนนจากความ “สะใจ” ของประชาชนไม่ได้ และ 4. ผู้นำพรรคต้อง “เจ๋ง” ต่อสู้กับนักการเมืองพรรคอื่นได้

ส่วนพรรครวมประชาชาติไทยมีอดีตส.ส. และกลุ่มกปปส.กระจายทั่วประเทศ แต่ที่น่าห่วงคือต้นทุนทางการเมือง เพราะผู้นำพรรคอย่าง ศ.เอนก เป็นผู้นำทางวิชาการ แต่ไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองที่เหมาะชิงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งสถานการณ์ไม่ต่างจากพรรคใหม่อื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวผู้สมัคร ส.ส. และผู้นำที่ประชาชนยอมรับ 

คนไปใช้สิทธิ จะเป็นคนที่อายุเยอะที่อยู่บ้าน ดังนั้นถ้าพฤติกรรมเลือกตั้งไม่เปลี่ยน ไม่มีพลังที่ดึงคนรุ่นใหม่ไปเลือกตั้ง สุดท้ายการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคใหม่จะไม่มีที่นั่ง ส่วนที่ได้ส.ส. คือพรรคเดิม

ขณะที่พรรคประชาชนปฏิรูปยังไม่มีพลังมากพอ เพราะในพรรคมีเพียงนายไพบูลย์ที่มีความโดดเด่นทางการเมือง ส่วนคนอื่นๆ ยังไม่ได้รับการยอมรับหรือมีตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่มีชื่อเสียง ไม่ต่างจากกลุ่มสามมิตรที่ออกตัวสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังไม่มีตัวผู้สมัครชัดเจน ดังนั้นพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นจึงเป็นแค่ตัวประกอบของพรรคการเมืองเก่า 2 พรรคเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง