กรมชลฯ เปิดแผนระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน

ภัยพิบัติ
5 ส.ค. 61
14:03
1,088
Logo Thai PBS
กรมชลฯ เปิดแผนระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน
กรมชลประทาน เปิดแผนระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานลงแม่น้ำเพชรบุรี ป้องกันน้ำท่วมตัวเมือง พร้อมประเมินพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ย้ำวางแผนไว้แล้ว โดยใช้บทเรียนจากน้ำท่วมปี 2559 และ 2560

วันนี้ (5 ส.ค.61) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานล่าสุด ว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 701 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของความจุอ่างฯ มีแผนการระบายน้ำลงลำน้ำเดิมวันละ 9.60 ล้าน ลบ.ม. และจากการประเมินสถานการณ์น้ำเขื่อนแก่งกระจานที่มีน้ำเต็มความจุ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้คำนวณปริมาตรน้ำปัจจุบัน ยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากกว่าการระบายน้ำออก จึงคาดว่าน้ำจะเริ่มล้น Spillway ในวันที่ 5 ส.ค. 61 เวลาประมาณ 22.00 น.คืนนี้ แต่จะไม่ทำให้เขื่อนเสียหายแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน Spillway ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะค่อยๆ ปรับระดับน้ำขึ้น คล้ายกับการเอียงขันน้ำแต่น้อย เพื่อเทน้ำออกจากขัน ต้องใช้ช่วงเวลาระยะหนึ่งกว่าน้ำจะไหลผ่าน Spillway เต็มที่ และต้องใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง จึงจะไหลไปถึงเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งในขณะนี้เขื่อนเพชรบุรีจะสามารถหน่วงน้ำส่วนนี้ได้ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนน้ำที่เกินจากเขื่อนเพชรบุรีต้องใช้เวลา 20 ชั่วโมงกว่าจะถึง อ.เมืองเพชรบุรี

กรมชลประทาน ได้วางแผนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไว้ก่อนหน้านี้ โดยใช้บทเรียนจากปี 2559 และปี 2560 มาปรับใช้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารชลประทานอย่างต่อเนื่อง และติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ก่อนเกิดฝนตกหนักบริเวณจุดเสี่ยง โดยเฉพาะจุดที่เกิดน้ำท่วม อีกทั้งยังทำการพร่องน้ำ เร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี โดยเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งตรวจการขึ้นลงน้ำทะเล ประกอบการวางแผนการเร่งระบายน้ำโดยติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ทำการประเมินสถานการณ์น้ำที่จะระบายผ่านเขื่อนเพชรในอัตราการระบาย ดังนี้ หากปริมาณไหลผ่านในอัตรา 50-100 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร กรณีระบายน้ำในอัตรา 100-150 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.หนองโสน ต.บ้านกุ่ม ต.บางครก อัตราการระบายน้ำปริมาณ 150-200ลบ.ม.ต่อวินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.คลองกระแซง ต.บ้านหม้อ ต.ท่าราบ ต.ต้นมะม่วง อัตราการระบายน้ำปริมาณ 200-400 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.บ้านลาด ต.ตำหรุ ต.ท่าเสน ต.ถ้ำรงค์ ต.สมอพลือ และไหลลงคลองส่งน้ำ อัตราการระบายน้ำปริมาณ 400-600 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่ายาง ต.ยางหย่อง และถ้าอัตราการระบายน้ำปริมาณมากกว่า 600 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่าแลง ต.ท่าคอย และไหลเข้าคลองส่งน้ำ

หากมีน้ำล้นทางระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ทุกๆ อัตรา 10 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 10-15 ซม. ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำ ขอให้ชาวบ้านริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดแม่น้ำ ท้ายเขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยออกจากพื้นที่

สถานการณ์ปัจจุบันระดับในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณใต้เขื่อนเพชรลงมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ยังต่ำกว่าตลิ่ง เฉลี่ย 2-3 เมตร กรมชลประทานได้ทำการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรบุรี ผ่านทางช่องระบายน้ำปกติ กาลักน้ำ และเครื่องสูบน้ำ อยู่ที่ 115 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมืองเพชรบุรี

 

 

ชลประทานเพชรบุรี ยืนยันไม่ได้บริหารน้ำผิดพลาด

 

นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งประเมินว่าน้ำจะเริ่มล้นสปิลเวย์ ในเวลาประมาณ 22.00 น. คืนนี้ (5ส.ค.) โดยระดับน้ำในเขื่อนล่าสุดตัวเลข 689 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ซึ่งปริมาณน้ำที่ล้นจากสปิลเวย์ จะต้องดูปริมาณน้ำที่ไหลมาเติมในอ่าง และน้ำส่วนเกินทั้งหมดจะใช้หลักการระบายลงในแม่น้ำเพชรบุรีทั้งหมด ซึ่งระยะทางที่น้ำจะเดินทางไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ผ่าน อ.แก่งกระจาน ไปยังเขื่อนเพชร ใน อ.ท่ายาง ที่จะเป็นจุดหน่วงน้ำ ระยะทาง 60 กิโลเมตร จากนั้นเขื่อนเพชรจะทำหน้าที่ในการบริหารน้ำลงในแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งรองรับอัตราการระบายอัตรา 50 ลบ.ม.ต่อวินาที และรับเต็มศักยภาพสูงสุด 150 ลบ.ม.ต่อวินาที

นายสันต์ กล่าวว่า กรณีที่น้ำหลากจากแม่น้ำเพชรบุรี เข้าท่วมชุมชนในเขตเทศบาลเมือง 3 ปีติดต่อกัน สาเหตุมาจากฝนตกหนัก โดย 2 ปีก่อนฝนตกหนักท้ายเขื่อนเพชรบุรี ส่วนปีนี้กรณีของเขื่อนแก่งกระจานน้ำล้นสปิลเวย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี สาเหตุมาจากฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุเซินติญ ที่ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ในภาคตะวันตกเต็มความจุอ่างเกือบทั้งหมดภายในเวลารวดเร็ว และยืนยันว่าไม่ใช่การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดแน่นอน

ทั้งนี้ เวลา 15.30 น. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยกรมชลประทาน จะลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจานอีกครั้ง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง