ปิด "เขาดิน" 31 ส.ค.นี้

สังคม
8 ส.ค. 61
09:42
6,405
Logo Thai PBS
ปิด "เขาดิน" 31 ส.ค.นี้
สวนสัตว์ดุสิต แจ้งปิดให้บริการสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยทยอยย้ายสัตว์ไปยังสวนสัตว์ 6 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ขนาดใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

วันที่ 7 ส.ค.61 สวนสัตว์ดุสิต เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้แชร์ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า "สวนสัตว์ดุสิต" จะปิดตัวในสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์ดุสิต ขอเรียนให้ทราบว่า ในส่วนของแผนการปิดและย้ายสวนสัตว์ดุสิตนั้น ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานมาโดยลำดับ

 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่ ให้กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์ดุสิตเดิมถึง 3 เท่า บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์

 

สัตว์มีพื้นที่ที่อยู่อย่างสบาย มีอากาศที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะนี้มีบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาสำรวจข้อมูลในด้านต่างๆ แล้ว เพื่อให้สภาพแวดล้อมสวนสัตว์ใหม่ออกมาอย่างดีที่สุดถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล

 

 

ย้ายสัตว์ 1,600 ตัว เสร็จภายใน 3 เดือน

ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้สวนสัตว์ดุสิต เริ่มศึกษาและแบ่งประเภทกลุ่มสัตว์ป่าออกเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อเตรียมศึกษาความเหมาะสมและกระจายสัตว์ไปยังสวนสัตว์ทั้ง 6 แห่งตามความเหมาะสม เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะย้ายสัตว์ป่ากลุ่มนกไปที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ร้อยละ 60 คาดว่าจะย้ายสัตว์​ภายใน​ 120​ วัน หลังปิดสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีแผนเคลื่อนย้ายสัตว์จากทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดผลกระทบและความเครียดต่อสัตว์ในระหว่างขนย้าย

 

ตามแผนปฏิบัติงาน ทางสวนสัตว์ดุสิตจะเปิดให้บริการจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อทยอยดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปจัดแสดง ณ สวนสัตว์ต่างๆ ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

 

ปิดตำนาน 80 ปี "สวนสัตว์ดุสิต"

 

สำหรับสวนสัตว์ดุสิต เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยและตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีสัตว์ป่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 1,600 ตัว ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคน โดยเปิดให้บริการทุกทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ส่วนอัตราค่าบัตรเข้าชมสวนสัตว์ดุสิตคนไทย ผู้ใหญ่อยู่ที่ 100 บาท เด็กอยู่ที่ 20 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปี คนพิการ พระสงฆ์ เข้าชมฟรี

 

สวนสัตว์ดุสิต เดิมเรียกว่า สวนดุสิตหรือ เขาดินวนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2438 หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศ และพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5) ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำ และถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขา เรียกว่า เขาดิน และรอบๆ เขาดินนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกลงพรรณไม้นานาชนิด สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติ สำหรับส่วนพระองค์ เรียกว่า วนา รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริภารฝ่ายในก่อน ดังนั้น สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนแห่งนี้ให้กว้างขวางและดีกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วย

 

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิต ให้ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และเป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชน ในเวลานั้นพระองค์เจ้าทิพอาภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พระราชทานอนุมัติในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพรับบริเวณสวนดุสิต หรือ เขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้



จากนั้นทางเทศบาลนครกรุงเทพ ได้จัดการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร และย้ายสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ ลิง จากสวนสราญรมย์ มาไว้ที่เขาดินวนา และได้ขอให้ทางสำนักพระราชวัง ส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมในวันอาทิตย์ และเมื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียบร้อยแล้วทางเทศบาล นครกรุงเทพ จึงเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจได้เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2481 และให้เรียกสวนดุสิตนี้ว่า สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง