ชำแหละจุดอ่อน-ทางออกแก้น้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน

ภัยพิบัติ
10 ส.ค. 61
18:30
962
Logo Thai PBS
ชำแหละจุดอ่อน-ทางออกแก้น้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ผศ.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงปัญหาและแนวทางพัฒนาแผนบริหารจัดการน้ำเมืองเพชรบุรี

เขื่อนแก่งกระจานสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างไร

ในวันที่ 20 ก.ค.มีฝนตกบริเวณเขื่อนแก่งกระจานจนน้ำไหลเข้าเกือบ 1 ใน 4 เท่าของเขื่อน หากไม่มีเขื่อนนี้ น้ำ 160 ล้าน ลบ.ม.จะไหลผ่านเขื่อนเพชร ลงไปที่ จ.เพชรบุรี 1,800 ลบ.ม.วินาที ซึ่งเทียบกับความจุของแม่น้ำเพชรบุรี ที่สามารถรองรับน้ำได้เพียง 200 ลบ.ม.วินาที จึงหมายความว่า หากไม่มีเขื่อนแก่งกระจานจะทำให้น้ำท่วม จ.เพชรบุรี ตอนล่างได้ เนื่องจากไม่มีการหน่วงน้ำบริเวณเขื่อน น้ำจะท่วมเมืองเพชรประมาณ 1-1.30 เมตร แต่โชคดีที่ในวันที่ 19 ก.ค. มีน้ำในเขื่อนแก่งกระจานอยู่เพียง 60% ของความจุอ่าง เมื่อน้ำเติมเข้ามาในวันที่ 20 ก.ค.ทำให้น้ำเพิ่มขึ้นมาเป็น 80% ของความจุอ่าง และมีฝนตกทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงระดับกักเก็บน้ำปกติจนน้ำไหลลงทางระบายน้ำล้น

ฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ชัน พื้นที่ป่าใช้เวลาเดินทางเพียง 2-3 วัน ก็ถึงเขื่อน ซึ่งเวลาเท่านี้ในการบริหารจัดการน้ำที่มีท่อระบายน้ำไหลออก 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เทียบกับที่ไหลเข้า 160 ล้าน ลบ.ม. ต่างกันเยอะมาก การหน่วงน้ำไว้ที่ระดับเก็บกักน้ำปกติและระดับเก็บกักน้ำสูงสุดในเขื่อนแก่งกระจานช่วยได้มาก 

 

ควรปล่อยให้น้ำไหลทะเลตามธรรมชาติหรือไม่

ตั้งแต่อดีตสมัยกรุงศรีอยุธยา คนไทยจะรอให้น้ำท่วมก่อน เพื่อให้ข้าศึกล่าถอยกลับไป จึงสันนิษฐานได้ว่ามีน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี ต่อมาประเทศได้พัฒนาเมือง แก้ไขปัญหาทางน้ำ เพื่อให้ไม่ให้เกิดน้ำท่วม จนมีการเปลี่ยนรูปแบบการสร้างบ้านจากยกสูง มีการต่อเติมบ้านลงมาชั้นล่าง หากต้องย้อนกลับไปให้น้ำไหลตามธรรมชาติ จะต้องมั่นใจว่าจะสามารถใช้ชีวิตแบบที่เมื่อน้ำมาแล้วจะไม่เกิดความเสียหาย

การพัฒนาลุ่มน้ำจะช่วยบริหารจัดการน้ำได้หรือไม่

คลองระบายน้ำอยู่บริเวณตัวเมือง ตามธรรมชาติของพื้นที่บนเขามีความลาดชันสูง พื้นที่ตอนล่างมีความลาดชันน้อย และความสามารถในการรับน้ำน้อยลง จึงต้องใช้หน้าตัดคลองมาก แต่ปัจจุบันขนาดของคลองแคบ จึงต้องหาทางลัดให้น้ำระบายออกสู่ทะเลเพื่อช่วยระบายน้ำผ่านเมืองได้เร็วขึ้น

อนาคตจะพยากรณ์สถานการณ์น้ำได้หรือไม่

ถ้าฝนมา จำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าเร็วขนาดไหนและต้องมีเครื่องมือตรวจวัด เรดาห์ และสถานีตรวจวัดน้ำฝนเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่เหนือเขื่อนเป็นป่า มีสถานีวัดน้ำฝนน้อยมาก จึงทำให้ไม่ทราบว่าฝนตกมากน้อยขนาดไหน และทำให้คาดการณ์ได้ยาก แต่ก็ต้องเข้าใจลักษณะภูมิประเทศ และเขื่อนแก่งกระจาน แม่ประจันต์ ห้วยผากด้วย 

 

การบริหารจัดการน้ำตอนนี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้ปัญหามาจากข้อจำกัดในการจัดการเขื่อน เนื่องจากการก่อสร้างเดิมมองว่าน้ำเต็มเขื่อนค่อยล้นแล้วจะบรรเทาไปเอง แต่ตอนนี้ความคาดหวังกับเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ว่าควรที่จะจัดการน้ำได้มากกว่านี้ แนวทางในการพัฒนาต่อไป คือ ควรมีประตูน้ำที่ใหญ่ขึ้น เพื่อระบายน้ำได้มากขึ้น อย่างความจุของแม่น้ำเพชรบุรี 200 ลบ.ม.วินาที ควรจะปล่อยให้เต็ม เนื่องจากแม้ว่าจะระบายน้ำเต็มความจุแต่ก็จะไม่ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือน ประชาชน และเป็นวิธีการลดน้ำในเขื่อนได้เร็วขึ้น การบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น

ปัจจุบันมองว่าหน่วยงานก็ทำเต็มที่แล้ว ด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์และเขื่อนเอง ต่อไปเราจะต้องปรับปรุงตัวเขื่อนแก่งกระจานให้มีทางระบายน้ำล้นที่ควบคุมได้ ไม่ใช่ต้องนำท่อมาเสียบ เพื่อสูบออกแบบนี้ เพราะท่อก็ระบายได้เพียง 150 ลบ.ม.วินาที แต่จริงๆ ความจุด้านล่างได้ถึง 200 ลบ.ม.วินาที

ข้อเสนอเร่งด่วนบริหารจัดการน้ำ "ลุ่มน้ำเพชร"

เขื่อนน้ำอูนไม่เคยล้นเลยในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา แต่สองปีหลังนี้น้ำล้นทุกปี น้ำอูนควรสร้างอาคารบังคับน้ำได้มากขึ้น ในการปล่อยน้ำควรปล่อยน้ำลงลำน้ำได้เต็มความจุ ในช่วงที่ฝนทางท้ายน้ำยังน้อย เช่นเดียวกับเขื่อนแก่งกระจาน ควรจะพัฒนาเป็นประตูควบคุมได้ เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น  

ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม

ภาคกลาง หรือ กทม. มี 3 ปัจจัย คือ ฝนที่ตกในพื้นที่ น้ำข้างบนไหลลงมาทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว แค่เจอน้ำทะเลหนุนกับน้ำเหนือก็ทำให้น้ำท่วมได้แล้ว ถ้ามองใน 2 เดือนข้างหน้าการเคลื่อนตัวของน้ำมีการตรวจวัดได้ง่าย โดยการติดตามน้ำมาเรื่อยๆ ตามทาง ฉะนั้นการรับมือน้ำในตอนนี้ค่อนข้างง่าย แต่ตัวที่จะเกิดท่วมในเมืองใหญ่ๆ ก็คือฝนที่ลงเฉพาะพื้นที่ ซึ่งอาจจะตกแล้วไม่เคลื่อนที่ไปไหน ทำให้น้ำท่วมเป็นจุด

เรื่องการติดตามฝนที่เคลื่อนเข้ามาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อย่างน้ำที่มาจากเหนือการบริหารจัดการน้ำ เราค่อนข้างที่จะบริหารจัดการกันได้ เพราะฉะนั้นการที่จะส่งน้ำไปทางซ้าย ทางขวา การกระจายน้ำดีขึ้นกว่าเดิม เรื่องน้ำภาคเหนือเป็นปัจจัยรองกว่าฝนที่จะตกในพื้นที่

"ฝน"เปลี่ยนส่งผลต่อการบริหารน้ำในเขื่อนอย่างไร

ล่องมรสุม ก.ค.-ส.ค.จะกลับขึ้นไปข้างบนใหม่ เพราะฉะนั้นหมายถึงว่าฝนตอนเหนือ เชียงใหม่ สุโขทัย นครสวรรค์ มันจะแมทช์กับน้ำที่เคลื่อนตัวลงมา สำหรับตอนนี้ขั้นตอนต่อไป จริงๆ คือ เรื่องอ่างเก็บน้ำ ปกติเขื่อนใหญ่มักจะควบคุมน้ำไม่ให้เกินระดับควบคุมตอนบน หรือ Upper Rule Curve ซึ่งถ้าช่วงปลายฝนมีการกักเก็บน้ำให้อยู่ในระดับควบคุมตอนบน ช่วงแล้งเกษตรกรก็จะมีน้ำใช้ แต่ช่วงกลางๆ ต้องมีการพร่องน้ำเพื่อรับฝนที่เกิดในช่วงฤดูฝนแต่สิ่งที่เกิดขึ้น

 

ตัวระดับควบคุมตอนบนมีการกำหนดมานานแล้วแต่ละเขื่อนจะมีการกำหนดระดับควบคุมตอนบนของเขื่อนเอง โดยประเมินจากการศึกษาความสมดุลเวลาน้ำลงมาการใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างไรโดยมองรวมเป็นรายปี

ขณะที่ปัจจุบันลักษณะของฝนมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากภูมิอากาศโลกเปลี่ยน ฝนตกรูปแบบไม่เหมือนเดิม ดังนั้น ตัวระดับควบคุมตอนบนอาจจะต้องมีการกำหนดโมเดลอัพเดตใหม่ เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง