สทนช.เตรียมรับมือฝนระลอกใหม่ ช่วง ส.ค. - ต.ค.นี้

ภัยพิบัติ
10 ส.ค. 61
11:28
626
Logo Thai PBS
สทนช.เตรียมรับมือฝนระลอกใหม่ ช่วง ส.ค. - ต.ค.นี้
สทนช.มั่นใจแผนรับมือน้ำท่วมปี 2561 ยังบริหารจัดการได้ ระบุน้ำในเขื่อนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 กว่า 60 แห่ง ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้ฤดูฝนกลางเดือน ส.ค. - ต.ค.ที่จะมีฝนเข้ามาระลอก 2 ในพื้นที่ภาคอีสาน กลางและใต้ ส่วนเขื่อนเพชร ยังจัดการน้ำได้ตามแผน

วันนี้ (10 ส.ค.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชล ประทาน และนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ร่วมแถลงข่าว "การบริหารจัดการแบบบูรณาการ...แก้วิกฤติน้ำท่วมในห้วงฤดูฝนปี 2561"  

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ภาพรวมแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2561 ในปีนี้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝนมีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็ลดลง ด้วยการทำงานประสานกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกัน คือ การเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ให้มีการบูรณาการข้อมูลหน่วยงานด้านน้ำของประเทศที่มีอยู่กว่า 38 หน่วยงานให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการบูรณาการข้อมูลการพยากรณ์อากาศ การติดตามสภาพฝนและสถานการณ์น้ำ เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการตามช่วงเวลารองรับทุกระดับของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้ชัดเจน

จากการติดตามสถานการณ์ฝน และปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และเขื่อนขนาดกลางทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง พบว่าหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ต่อปริมาณน้ำในเขื่อน ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญเพิ่มสูงขึ้น สทนช.ได้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา 

จากนั้นจึงมีการวางแผนเพื่อให้ควบคุมน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ให้ได้ โดยให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 80 รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน และขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และในวันที่ 4 มิ.ย.ได้ประชุมเพื่อเร่งสร้างการรับรู้โดยแจ้งไปยัง 4 ภาคทั่วประเทศ วางแผนปฏิบัติการโดยเฉพาะการระบายน้ำและการพร่องน้ำ

ชี้ฝนหนักตกลงเขื่อนขนาดใหญ่

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ค. มิ.ย. และ ก.ค.ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้นจากฝนตกหนัก สทนช.จึงเสนอให้ตั้งคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ กลั่นกรอง ข้อมูลและอำนวยการ โดยดูแลอ่างเก็บน้ำที่เข้าสู่วิกฤต โดยอิงการดูแลอ่างเก็บน้ำใน 2 ประเภท คือ อิงตามเกณฑ์ควบคุม และอิงตามความจุที่ปริมาณน้ำร้อยละ 80 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 ส.ค.พบว่าอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 100 มีสูงถึง 18 แห่ง ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ขนาดกลาง 13 แห่ง

ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 จำนวน 60 แห่ง อยู่ในภาคอีสาน 43 แห่ง หลังจากเดือน ก.ค.มีอ่างเก็บน้ำที่สูงขึ้นเยอะจากอิทธิพลพายุเซินติญ ทั้งนี้ การดูแลจะเน้นในพื้นที่ภาคอีสานริมฝั่งโขง และในภาคตะวันตก ในเขื่อนแก่งกระจาน ที่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการดูแลในพื้นที่ ต้องคำนึงถึงการระบายน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด 


ด้านนายวันชัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาร่องมรสุม (ร่องฝน) พาดผ่านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือทำให้เกิดฝนตก รวมถึงตกในพื้นที่ประเทศเมียนมา และลาว รวมลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ถึงเป็นฝนประจำฤดูทำให้เกิดฝนตกใน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร ขณะที่ในปี 61 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมายังไม่มีพายุเข้ามาอยู่ในไทย โดยพายุส่วนใหญ่เคลื่อนไปยังประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น จีน

จากนี้อีก 1 สัปดาห์ฝนจะลดลง และคาดว่าในช่วงปลายเดือน ส.ค. - ก.ย. ร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางฝนจะเพิ่มขึ้น จากนั้นในช่วงเดือน ต.ค.ร่องมรสุมจะผาดผ่านในพื้นที่ภาคใต้ที่จะต้องเฝ้าระวัง จนกว่าจะหมดฤดูฝนในช่วงเดือน กลาง ต.ค.นี้ 

นอกจากนี้ จากข้อมูลคาดว่าปลายปีจะมีปรากฏการณ์ "เอลนิโญ" คือฝนจะลดลง แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดเกิดภัยแล้ง แต่มีความน่ากังวลว่าความร้อนอุณหภูมิจะพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียสหรือไม่

"กรมชล" ยืนยันตรวจสอบความแข็งแรงเขื่อน 

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน กรมชลประทานได้รับมอบหมายจาก สนทช.ให้ดูแล ให้ดูผลกระทบพืช สัตว์และการประมง ที่จะได้รับผลกระทบจากพายุฝนและการระบายน้ำจากเขื่อน โดยเฉพาะการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน โดยเขื่อนทุกเขื่อนทั้งการดูแลของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทั้งหมด โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จมีเครื่องมือตรวจวัดภายในเขื่อนอยู่แล้วว่า ยุบหรือเคลื่อนตัวหรือไม่ และการดูด้วยตาเปล่าว่าลาดทำนบมีการกัดเซาะหรือไม่ และเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็จะใช้การตรวจสอบโดยตรวจด้วยการดูด้วยตาเปล่า รวมถึงการโอนถ่ายเขื่อนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลก็ได้ดูแลด้วย

ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน มีการดูแลและเฝ้าระวังโดยเขื่อนขนาดใหญ่มีเกณฑ์ในการดูแลในแต่ละห้วงเวลา ทั้งเกณฑ์ระดับน้ำต่ำที่สุดเพื่อป้องกันน้ำขาดแคลน และเกณฑ์ระดับน้ำสูง เพื่อรองรับน้ำหลาก โดยต้นฤดูฝนก่อนวันที่ 1 ก.ย.มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้ำมากและพยายามระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ อาคารบังคับน้ำได้ตรวจสอบแล้วว่าใช้งานได้หรือไม่ และติดป้ายว่าผ่านการตรวจสอบแล้ว

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้กระจายเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆไปยัง 7 จุด ทั่วทุกภาค รวมกว่า 2,083 รายการ ทั้งเครื่องสูบน้ำและอื่นๆ รวมถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงการคาดการณ์จ่ากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ หลังจาก พ.ค.โดยแปลงจากน้ำฝนมาเป็นน้ำท่า โดยประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในช่วง ส.ค.- ก.ย.ได้เกิดในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งได้เตือนและเตรียมความพร้อมแล้วเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ขณะที่ ในพื้นที่ลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำหลากเช่นบางระกำ พื้นที่ 12 ลุ่มหลังเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้เลื่อนระยะเวลาการเพาะปลูกโดยให้ ปลูกก่อนพื้นที่อื่น และเก็บเกี่ยวก่อนน้ำหลากจึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ

มั่นใจ "สอบผ่าน" บริหารน้ำลุ่มน้ำเพชร 

นายทองเปลว  กล่าวว่า การสร้างการรับรู้ความเข้าใจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและการนำเครื่องมือไปช่วยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จ.เพชรบุรี มี 3 เขื่อน เขื่อนห้วยแม่ประจันต์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 27 มีปริมาณน้ำน้อย ด้านท้ายเขื่อนที่จะมาบรรจบกับแม่น้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำน้อยที่ 2-3 ล้าน ลบ.ม.ไม่น่ากังวล ขณะที่บริเวณห้วยผากมีปริมาณน้ำร้อยละ 52

ปัจจัยหลัก คือ แม่น้ำเพชรบุรี ที่มาจากเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งค่อนข้างตรงกับปริมาณที่คาดการณ์ว่าจะเข้าเขื่อน740 ล้าน ลบ.ม. และจุดล้นสปิลเวย์ 60-65 ซ.ม. ในวันที่ 10 ส.ค.ซึ่งข้อมูลจริงอยู่ที่ปริมาณ 730 ล้าน ลบ.ม. สูงล้นสปิลเวย์ 60 ซม.ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะผ่านสปิลเวย์ 100 ลบ.ม./วินาที แต่ปริมาณน้ำไหลผ่านจริงผาน 95 ลบ.ม./วินาที รวม 3 ทางผ่านเขื่อนแก่งกระจานทั้งประตูระบายน้ำ กาลักน้ำ ล้นสปิลเวย์ คาดหมายว่าปริมาณ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งข้อเท็จจริงค่อนข้างตรง  ผันผวนเล็กน้อยอยู่ที่ 190 -210 ลบ.ม./วินาที ถือว่าการคาดการณ์สอบผ่าน

ซึ่งจากนั้นจะเข้าเขื่อนเพชรปริมาณน้ำที่มา 200 ลบ.ม.ม/วินาที ใช้เวลาประมาณ 15 ชม.น้ำจะมาถึงเขื่อนเพชร ซึ่งเขื่อนเพชรจะทำหน้าที่ควบคุมให้ปริมาณน้ำที่ผ่านเขื่อนเพชร มีผลกระทบต่ออำเภอเมืองเพชรบุรีน้อยที่สุด โดยบูรณาการที่จังหวัดโดยเช้าวันนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรอยู่ที่ 120 ลบ.ม./วินาที โดยระดับน้ำใน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองเพชรบุรี ยังต่ำกว่าตลิ่ง

เขื่อนเพชรคล้ายเขื่อนเจ้าพระยาใช้หน้าเขื่อนหน่วงน้ำ พักน้ำและกระจายน้ำส่งคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย 10 ลบ.ม./วินาทีและฝั่งขวารวมแล้วตัดน้ำไป 70 ลบ.ม./วินาที ยังเหลืออีก 20 ลบ.ม./วินาทีที่จะตัดเข้า D9 มีการคาดการณ์ว่าน้ำจะไหลเข้าเขื่อนเพชร 110-140 ลบ.ม./วินาที โดยการบริหารน้ำเป้าหมายว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบลดลง ให้ระดับความสูงของน้ำลดลง และระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบลดลง วันนี้ยังคาดการณ์ว่าจะไม่เกิดที่คาดการณ์และวางแผนไว้

ทั้งนี้ ยังคาดว่าจะไม่เกินตามที่คาดการณ์และวางแผนไว้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ ขณะนี้ยังอยู่ที่เขื่อนเพชรทำหน้าที่ได้ เนื่องจากเขื่อนแก่งกระจาน ยังต้องระบายน้ำต่ออีก 1 เดือน เพื่อรองรับฝนที่จะตกในช่วงต่อไปในเดือน ส.ค.-ก.ย. ขณะที่เขื่อนปราณบุรี น้ำที่ไหลเข้ากับระบายออกใกล้เคียงกันยังจัดการได้

 ปภ.จัดเตรียมแผนช่วยเหลือพท.น้ำท่วม 

ด้านนายชยพล  กล่าวว่า ได้กระจายกำลังพลและเครื่องมือไปทุกพื้นที่พร้อมประสานทหารประจำในทุกอำเภอในการไปช่วยเหลือทันที ในการเฝ้าระวังมีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องและแจ้งเตือนจังหวัดในการแจ้งเตื่อนเร่งรัดและเสริมให้ทุกช่องทางเป็นทางการและไม่ทางการ วิทยุ อาสาสมัคร ไลน์ วิทยุ ต่อเนื่อง ประชาชนต้องทราบการปฏิบัติงานของราชการ เพื่อจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร

การทำงานระดับจังหวัดมีศูนย์อำนวยการระดับจังหวัดและแบ่งการดูแลในแต่ละพื้นที่ และประสานกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี และจิสด้า และหากจุดใดวิกฤตจะได้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้แล้ว ขณะที่ จ.พื้นที่ชายฝั่งวางมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นเรือจีนที่ภูเก็ต และมีมาตรการบังคับในกรณีฝ่าฝืน

กรณีผลกระทบเป็นวงกว้างหลายจังหวัด จะยกระดับโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ดูแล เช่นในพื้นที่ภาคใต้ โดยแผนที่ทำตามแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ แบ่งผู้รับผิดชอบชัดเจน ทั้งผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ เน้นการสื่อสาร สำคัญทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิ และสื่อสารให้ถึงประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อความปลอดภัย โดย ปภ.มี 18 ศูนย์เขต แต่ละศูนย์ครอบคลุม 4-5 จังหวัด จากกรณีที่เกิดขึ้น 30 จังหวัด ตอนนี้เหลือประสบอุทกภัย 9 จังหวัด

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง