"เหยื่อ" กลโกง ฟอกเงินดิจิทัล

เศรษฐกิจ
11 ส.ค. 61
20:01
1,751
Logo Thai PBS
"เหยื่อ" กลโกง ฟอกเงินดิจิทัล
เงินดิจิทัลเป็นนวัตกรรมที่ล่อใจนักลงทุน ให้เข้าไปเก็งกำไร เพื่อหวังผลตอบแทน แม้จะมีบางประเทศที่มีกฏหมายรองรับ แต่การกำกับดูแลยังไม่ทั่วถึง ทำให้เหล่ามิจฉาชีพยังคงใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวง

อีกครั้ง ที่เงินดิจิทัลถูกใช้เป็นเครื่องมือของการหลอกลวง โดยครั้งนี้ มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 700 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ เกิดขึ้นทั่วโลก

ไซเฟอร์เทรซ รายงานว่า การไหลของเงินที่ผิดกฎหมาย และ การฟอกเงิน ผ่านสกุลเงินดิจิทัล ในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 761 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ มากกว่า 25,000 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่า ปีที่แล้วทั้งปี 3 เท่า และสิ้นปีนี้ คาดว่ามูลค่าการไหลของเงินที่ผิดกฎหมาย และการฟอกเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัล จะเเตะที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เกือบ 5 หมื่นล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยคุกคามจากเงินสกุลดิจิทัล แต่นายภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มองว่า อาจกระทบกับบิทคอยน์ ทั้งที่ไม่ควรกระทบ เพราะการฟอกเงินในครั้งนี้ เป็นการหลอกให้ผู้อื่นไปลงทุนในธุรกิจหนึ่ง และอ้างว่าจะไปประกอบธุรกิจต่อ เพื่อหาผลกำไร

 

 

แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีธุรกิจนั้นอยู่ และส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับเงินสกุลดิจิทัล คือ การกำหนดให้ชำระเป็นบิทคอยน์ โดยสมัยก่อน จะหลอกผู้ลงทุน โดยอ้างอิงกับทองคำ หรือ น้ำมัน แต่ปัจจุบัน เป็นสกุลเงินดิจิทัล ตามกระเเสความนิยม ซึ่งในอนาคต เชื่อว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะมีมากขึ้น


ตัวเทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวเลย มันเป็นการหลอกลวงตั้งเเต่ต้นจนจบ คนทำไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ สร้างประโยชน์ใดใดทั้งสิ้น มันไม่ควรไปกระทบความน่าเชื่อถือเทคโนโลยี หรือ อีโคซิสเต็ม แต่สิ่งที่ควรรู้ คือ เวลาใครชวนไปลงทุน ควรดูให้ดี

นายภูมิ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คนในวงการไม่ได้พูดคุยกันมากนัก เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคนิคของเทคโนโลยี แต่เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลในไทย จะมีแถลงการณ์ออก ขณะที่ความรู้ความเข้าใจสกุลเงินดิจิทัลในไทย ดีขึ้น แต่ยังมีช่องว่างอีกมาก สังเกตจากยังมีผู้ถูกหลอก ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า เทคโนโลยีนี้ เป็นเรื่องยาก

สอดคล้องกับ นายอัครเดช เดี่ยวพานิช ผู้บริหาร Bitcoin Addict Thailand ที่มองว่า ความรู้ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ตามประสบการณ์ ในปีที่แล้วคนไทยส่วนมาก ยังคิดว่าเป็นสแกมอยู่ แชร์ลูกโซ่หรือเปล่า เพราะในไทยมีแชร์ลูกโซ่เต็มไปหมด แต่ในปีนี้ผมมองเป็นบวก คนเริ่มให้ความสนใจจริงๆ เริ่มมีสื่อต่างๆ ออกมาให้ความรู้จริงๆ เริ่มมีการยอมรับจากรัฐบาล มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการยอมรับไปในตัว

 

 

ในปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการเงินนอกระบบ 473 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนที่เข้าลักษณะแชร์ลูกโซ่ มีมากที่สุด หรือ 126 เรื่อง ตามมาด้วย ลักษณะขายตรงแอบแฝง 85 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล แต่ไม่ได้แยกข้อมูลออกมา

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า กำลังประสานงานกับตำรวจ เพื่อพิจารณาความผิดผู้ต้องหา กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ และกฎหมาย ประกอบธุรกิจดิจิทัลเรื่องใดบ้าง หากพบขอ้เท็จจริงที่ชัดเจนแล้ว ก้พร้อมเอาผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

 

แม้ปัจจุบันมีกฎหมายแม่รองรับแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ออกไอซีโอรายใดได้รับอนุญาต รวมทั้ง ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือ ไอซีโอ พอทอล ที่ได้รับการยอมรับจาก ก.ล.ต.แม้แต่รายเดียว เนื่องจาก อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้ แต่ยังสามารถทำการซื้อขายได้ตามปกติ จนกว่าจะถูกสั่งห้าม

จึงแนะนำนักลงทุนตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลผู้ชักชวนลงทุน ที่แสดงตนเป็นตัวกลาง ไม่ว่าจะในฐานะศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล บนเว็ปไซด์ทางการของ ก.ล.ต. หรือ โทรศัพท์หมายเลข 1207 เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงถูกหลอกลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

นันทินี ลายละเอียด และ พรรณทิภา ภัทรวรเมธ ไทยพีบีเอส  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง