"ญีปุ่น" ยังไม่ไว้ใจลงทุนอีอีซี

เศรษฐกิจ
15 ส.ค. 61
10:07
781
Logo Thai PBS
"ญีปุ่น" ยังไม่ไว้ใจลงทุนอีอีซี
รัฐบาลไทยคาดหวัง "อีอีซี" จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ โดยผลักดันกฏหมายพิเศษและการโรดโชว์ หวังดึงเม็ดเงินจากทั่วโลก แต่จนถึงขณะนี้ การพัฒนาอีอีซี ยังถูกตั้งคำถามจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลต้องฉายภาพอีอีซีให้ชัดพอที่จะทำให้กล้าลงทุน

หนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คือ โครงการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ที่รัฐคาดหวังจะช่วยสร้างเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี จากทั้งสิน 5 โครงการ และโครงการสมาร์ทซิตี้พื้นที่อีอีซี มูลค่าลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท


หากดูจากความคืบหน้าทั้ง 5 โครงการ แต่ละโครงการเริ่มชัดเจนมากขึ้นจริง เช่น โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีผู้ร่วมชิงเค้กก้อนโต ซื้อซองประมูล และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนกันยายนนี้ โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา คาดออก TOR ภายในเดือน ตุลาคม 2561
ทั้ง 5 โครงการรัฐ หมายมั่นว่าจะต้องลงนามเซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน อย่างช้าสุดก่อนเลือกตั้ง หรือ ไตรมาส 1/62 และโครงการจะไม่สะดุด เพราะพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พรบ.อีอีซี มีบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

โดยมีกฎหมายรองรับการลงทุนชัดเจน เสมือนเป็นการยืนยันกับนักลงทุนว่า โครงการก่อสร้างในอีอีซี เดินหน้าได้แน่ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล


แต่ท่ามกลางความสนใจ แต่ก็ยังไม่ไว้ใจ !!! เพราะนักลงทุนกลุ่มหนึ่งยังแคลงใจ กับกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง

ตั้งคำถาม ว่าหากนักลงทุนจะขอเข้ามาลงทุนในอีอีซี จะได้สิทธิประโยชน์มากกว่าขอส่งเสริมลงทุนในบีโอไออย่างไร และการลงทุนแบบไหนจึงเข้าข่ายคำจำกัดความของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว โครงการลงทุนในอีอีซีจะสะดุดหรือไม่

โดยความไม่มั่นใจของนักลงทุนญี่ปุ่น สะท้อนจากกรณีที่สื่อญีปุ่นรายงานว่านักลงทุนญีปุ่นกังวลกฎหมายและโครงการรัฐบาลเดินหน้าอยู่ในเวลานี้ มาจากการรัฐประหาร และปัจจุบันยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร เป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุน


ญีปุ่น 100 ราย ร้องขอรัฐจัดเวทีให้ข้อมูลเชิงลึกลงทุนอีอีซี 

ล่าสุด นักลงทุนญี่ปุ่น 100 ราย ร้องขอมายัง หอการค้าญี่ปุ่น หรือ JCC และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร เพื่อให้รัฐบาล จัดเวิร์คช้อป ให้ข้อมูลเชิงลึกกับนักลงทุนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว


นักลงทุนตั้งคำถามประมาณ 30 ข้อ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลงทุนในอีอีซี และสิทธิประโยชน์ ที่ไม่ใช่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมในอีอีซี เช่น ค่ายรถยนต์โตโยต้าเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนอยู่แล้ว และยังสับสนการทำงานของบีโอไอ กับสำนักงานอีอีซี แตกต่างกันอย่างไร

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอีอีซี ชี้แจงว่า สำนักงานอีอีซี จะดูภาพรวมการลงทุน รูปแบบลงทุน เป็นไปตามเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมหรือไม่ จึงส่งต่อให้ บีโอไอเป็นผู้พิจารณาสิทธิประโยชน์
ขณะที่ อุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีมุมมองเชิงบวก ว่าการที่ญี่ปุ่นของข้อมูลเชิงลึกเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่าญีปุ่นสนใจจะลงทุนอีอีซีจริงๆ และยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่า โครงการลงทุนหลักในพื้นที่อีอีซีจะเดินหน้าตามแผนงาน แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่


ผมดีใจนะ ผมดีใจ ผมดีใจมากเลย ที่นักลงทุนญีปุ่นเขาขอให้จัดเวทีซักถามข้อมูลเชิงลึก เพราะเขาอยากจะลงทุนจริงๆ กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่แปลกที่นักลงทุนจะสงสัย เชื่อว่าไม่ได้กังวลใดๆ แต่สนใจที่จะลงทุนเพิ่มเท่านั้นเอง

สิ่งที่ทำให้รัฐบาลมั่นใจว่า ญีปุ่นไม่ทิ้งไทย เพราะดูจากผลสำรวจระดับความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นของเจโทร พบว่า ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบหลายปี จนครึ่งปีแรกปีนี้อยู่ระดับ 40 สูงสุด เพิ่มจากครึ่งปีหลัง 2560 ที่ระดับ36 และมั่นใจว่าผลจากอีอีซีจะทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอีก

สอดคล้องกับผลสำรวจของบีโอไอ พบว่า ต่างชาติ 98.5 %จาก 600 บริษัท มีแผนการลงทุนในไทย สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ในจำนวนนี้ 33% มีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทย และนักลงทุนอีก 65.5% ยังรักษาระดับการลงทุนในไทย มีสัดส่วนเพียง 1.5% ที่จะลดระดับการลงทุน

แต่ไม่เพียงแต่นักลงทุนจากญีปุ่นเท่านั้น ที่รัฐบาลคาดหวัง ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จนถึง กุมภาพันธ์ปี 2562 นักลงทุนจากจีน เกาหลี ฮ่องกง ก็มีแผนจะเข้ามาศึกษาโครงการลงทุนอีอีซี คงต้องรอดูท่าทีนักลงทุนเหล่านี้ ว่าจะมีความมั่นใจต่อแผนลงทุนในอีอีซีมากน้อยแค่ไหน และประเด็นที่พวกเขาสนใจซักถาม มุ่งเป้าไปที่ประเด็นใด

 

สิรีภัคกมณ ตรัยตรึงตรีคูณ  @kati_siree

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง