พิรุธ ! สร้างผิดสเปก อาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ 23 ล้านบาท

ภูมิภาค
14 ส.ค. 61
17:27
1,286
Logo Thai PBS
พิรุธ ! สร้างผิดสเปก อาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ 23 ล้านบาท
ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 เร่งตรวจสอบโครงการก่อสร้างของสำนักงานชลประทาน ที่ 16 และ 17 ตั้งแต่ปี 2559-2561 มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท หลังพบพิรุธอาคารคลองบังคับน้ำกาเดาะ จ.ยะลามูลค่า 23 ล้านบาท ก่อสร้างผิดแบบ

ภาพขณะที่คนงานพยายามเข้าไปปรับปรุงโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ จังหวัดยะลา งบประมาณกว่า 23 ล้านบาท ของชลประทานยะลา ซึ่งรับมอบงานไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาถูกชาวบ้านบันทึกได้ ภายหลังการนำเสนอข่าวของไทยพีบีเอส ถึงข้อพิรุธในการก่อสร้างโครงการนี้

เนื่องจากสภาพของหินที่นำมาใช้แตกร้าว และมีคุณภาพต่ำ จึงเกิดการชำรุดหลังรับมอบงานแค่ 1 ปี โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้มีการสำรองน้ำไว้ เพื่อเข้ามาทำการปรับปรุงอาคารดังกล่าวเพื่อให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้งาน

โครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ เป็น 1 ใน 32 โครงการที่ชลประทานยะลา ได้ใช้งบประมาณเกือบ 500 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2560 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด หลังการสุ่มตรวจ 2 โครงการซึ่งใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท มีการก่อสร้างผิดสเปก

นอกจากนี้ยังพบว่า บางโครงการมีการของบประมาณซ้ำซ้อนกับหน่วยงานท้องถิ่น เช่นโครงการขุดลอกคลองยะรม ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา งบประมาณ 8,300,000 บาท ซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่ตรงกับการของบประมาณที่องค์การบริหารส่วนตำบลยะรมเพื่อเข้าดำเนินการขุดลอกคลองเช่นกัน

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตุถึงโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และการก่อสร้างเขื่อนกรงปินัง ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 20 ล้านบาทต่อโครงการที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด

นอกจากในจังหวัดยะลาแล้ว ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการก่อสร้างในโครงการชลประทานที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทาน ที่ 16 และ 17 ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

หลังพบว่า หลายโครงการมีความพยายามเข้ามาปรับแก้งานในโครงการที่รับมอบงานไปแล้ว เช่นโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ฝายคลองเปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งมีการเข้ามาต่อเติมโครงการใหม่ แม้ว่าจะรับมอบงานไปตั้งแต่เดือน มิ.ย.2560 

แต่จากการตรวจสอบของป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 พบความผิดปกติในการก่อสร้าง ทั้งความยาวของผนังกันตลิ่ง ความกว้างของผนัง หรือแนวคันดินข้างผนังติดแนวพื้นดิน ซึ่งผิดไปจากแบบ หรือการกำหนดให้มีการบดอัดแน่นร้อยละ 95 แต่กลับพบว่าไม่มีการบดอัดเลย

ซึ่งในขณะนั้นตัวแทนของชลประทานสงขลาอ้างว่า เป็นการนำวัสดุก่อสร้างที่เหลือใช้มาต่อเติมให้เกิดสวยงาม นอกเหนือจากเเบบ ส่วนสาเหตุที่เพิ่งมาดำเนินการ ไม่ได้กลัวการตรวจสอบของ ป.ป.ท. เเต่เพราะยังอยู่ในประกัน 1 ปีจึงสามารถให้ผู้รับเหมากลับมาแก้งานได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง