คุมธุรกิจสีเทา-สถานบันเทิง ลดอาชญากรรม "เกาะเต่า"

สังคม
27 ส.ค. 61
19:00
640
Logo Thai PBS
คุมธุรกิจสีเทา-สถานบันเทิง ลดอาชญากรรม "เกาะเต่า"
นักวิชาการด้านการจัดการการท่องเที่ยว เสนอให้จัดระเบียบสถานบันเทิงและธุรกิจสีเทาในเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อปรับภาพลักษณ์และลดอาชญากรรม

5 ปี นับตั้งแต่มีคดีฆาตกรรมคู่รักชาวอังกฤษ เมื่อปี 2557 เกาะเต่ายังมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในปีเดียวกันนั้นมีอีก 2 คดี คือการฆาตกรรมนายนิค เพียร์สัน ที่เจ้าหน้าที่พบศพลอยน้ำ และคดีนายซูเตอร์ ฮาส์ปีเตอร์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่หายตัวอย่างลึกลับก่อนพบเป็นศพลอยน้ำ

ปี 2558 พบอีก 3 คดี ได้แก่ 1. คดีนายดิมิทรี โปฟเซ ชาวฝรั่งเศส พบศพลักษณะฆ่าตัวตาย แต่มีข้อสังเกตว่ามือผู้ตายถูกมัดไพล่หลัง จึงทำให้ครอบครัวไม่เชื่อสาเหตุการเสียชีวิต 2. คดีน.ส.คริสตินา อันส์ลีย์ ชาวอังกฤษ เสียชีวิตจากการกินยาเกินขนาด และ 3. คดีน.ส.วาเลนตินา โนโวเซโนวา ชาวรัสเซีย ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

ต่อมา ปี 2559 มีคดีของนายลุค มิลเลอร์ ชาวอังกฤษ ถูกพบเป็นศพในสระน้ำของโรงแรมแห่งหนึ่ง และในปี 2560 มีคดีของน.ส.เอลิส ดัลเลอมานจ์ ชาวเบลเยียม เสียชีวิตบริเวณอ่าวโตนด ซึ่งตำรวจระบุเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ครอบครัวไม่เชื่อผลชันสูตร

ล่าสุดต้นปี 2561 มีคดีนายแบรนด์ เกราท์ช ชาวเยอรมัน เสียชีวิตบริเวณอ่าวแม่หาด ก่อนจะมีกรณีหญิงวัย 19 ปี ที่อ้างว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศระหว่างท่องเที่ยวเกาะเต่า

 

 

คดีที่เกิดกับชาวต่างชาติต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่เติบโตควบคู่กับสถานบันเทิง เป็นที่มาของอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น เที่ยวเกาะ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะการช่วยเหลือมีจำกัด

 

เกาะเขาล้อมด้วยน้ำวิธีไปจำกัด ท่านกำลังไปที่ที่ธรรมชาติสร้างไว้แล้ว น่าจะดื่มด่ำความแตกต่าง ไม่ใช่ไปทำเหมือนอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะความปลอดภัยของท่านเองหรือผู้อื่น เพราะ วิธีเข้าถึงและความช่วยเหลือย่อมจำกัดกว่า แต่ละพื้นที่ทบทวนเถอะครับ พื้นที่ของท่านควรบริหารความเสี่ยงที่พึงมี

 

 

ขณะที่ ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร อาจารย์ภาควิชาการจัดการการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เกาะพัฒนาแหล่องท่องเที่ยวทางธรรมชาติไปในทางที่ดี แต่ที่น่าควรคือการควบคุมสถานบันเทิง เพราะคนมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่แท้จริงเป็การจัดการเชิงนโยบาย เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ

 

สิ่งที่น่าห่วงคือคนไทยเราเองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลัวนักท่องเที่ยวที่มาไม่มีแหล่งบันเทิงให้เขา เพราะตัวเกาะเต่ายอมรับมิติฟูลมูน เราพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร ก็จะได้นักท่องเที่ยวอย่างนั้น

ผศ.จิตศักดิ์ เสนอให้ควบคุมสถานบันเทิง ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณะของเกาะเต่าดีขึ้น และควรจัดระเบียบประเภทธุรกิจบนเกาะเต่าที่จะช่วยลดอาชญากรรมไม่ให้เกิดซ้ำ

 

 

แม้เกาะเต่าจะมีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อปี 2557 ที่มีเพียงปีละ 395,000 คน แต่การประเมินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ กว่า 1,330,000 คน ซึ่งสร้างรายได้ปีละหลายพันล้านบาท

ตัวเลขนี้ สะท้อนถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและการดำน้ำที่ได้ความนิยมอันดับต้นของโลก ซึ่งภาพลักษณ์จะดียิ่งขึ้นหากมีควบคุมกลุ่มสถานบันเทิงและธุรกิจสีเทาให้เข้มงวดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของอาชญากรรม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง