สั่ง 22 จว. ลุ่มเจ้าพระยา หยุดปลูกข้าวหลังนาปี

ภัยพิบัติ
3 ก.ย. 61
10:08
923
Logo Thai PBS
สั่ง 22 จว. ลุ่มเจ้าพระยา หยุดปลูกข้าวหลังนาปี
สทนช.ปรับแผนลดการระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ เตือน 3-7 ก.ย.นี้ ไทยเจอฝนตกหนักบางพื้นที่ ด้านกรมชลฯ ขอความร่วมมือชาวนาไม่ทำการเพาะปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และขอใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำเหนือชั่วคราว

วันนี้ (3 ก.ย.2561) นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ว่าในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 2561 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 820 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30-50 ซม.

ทั้งนี้ ศูนย์เฉพาะกิจฯได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาปรับแผนลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำให้เกิดน้อยที่สุดรวมไปถึงแจ้งจังหวัดและประชาชนทราบแผนการระบายน้ำล่วงหน้า โดยขณะนี้ พบว่ามีน้ำสูงกว่าตลิ่ง ที่ อ.พยุหคีรีจ.นครสวรรค์

 

 

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้ง 22 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวต่อเนื่อง หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูน้ำหลากขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงแนวโน้มน้ำสูงขึ้น โดยมีน้ำสูงกว่าตลิ่งที่ จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.บึงกาฬ

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 53,545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 3,143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 รับน้ำได้อีก 19,420 ล้าน ลบ. ม. อ่างฯที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 108% ลดลง 1% เขื่อนแก่งกระจาน 107% ลดลง 1% และขนาดกลาง 22 แห่ง ลดลง 11 แห่ง ซึ่งอยู่ใน ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันออก 3 แห่ง

 

 

ขณะที่อ่างเฝ้าระวังที่ความจุ 80-100% เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง เขื่อนวชิราลงกรณ 94% เขื่อนศรีนครินทร์ 91% เขื่อนรัชชประภา 86% เขื่อนขุนด่านปราการชล 86% เขื่อนปราณบุรี 79% ขนาดกลาง 64 แห่ง เพิ่มขึ้น 9 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36 แห่ง ภาคตะวันออก 12 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

สำหรับอ่างเฝ้าติดตามที่ความจุน้อยกว่า 30% เป็นขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา ขนาดกลาง 38 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง ภาคตะวันออก 4 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคใต้ 5 แห่ง ต้องวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำโดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง

กรมชลฯ ขอชาวนาไม่เพาะปลูก หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่แก้มลิง 12 ทุ่งเจ้าพระยา 1,200,000 ไร่ ที่เลื่อนการปลูกข้าวนาปีตามกรมชลประทานแนะนำ คือ 1 พ.ค. เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว คาดว่าจะเกี่ยวครบทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อที่จะใช้เป็นแก้มลิงกรณีน้ำเหนือลงมามาก

ทั้งนี้ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาให้ทำความเข้าใจกับเกษตกรในพื้นที่ลุ่มต่ำตามโครงการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวให้งดทำนาปีต่อเนื่อง โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งเชียงรากทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่มทุ่งบางบาล-บ้านแพนทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา และระบายน้ำบางส่วนผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลาก พื้นที่ 1,200,000 ไร่ จะรับน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. สำหรับพื้นที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยามี 7,060,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2,920,000 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จกลางเดือนนี้

 

 

ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบนซึ่งกรมชลประทานได้ทำเป็นที่รับน้ำคือ ทุ่งบางระกำ ใน จ.พิษณุโลก และบางส่วนของสุโขทัย ได้ขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มจากเดิมปี 2560 โครงการบางระกำโมเดลมี 265,000 ไร่รับน้ำได้ 400 ล้าน ลบ.ม. ปีนี้มีพื้นที่ 382,000 ไร่ รับน้ำได้ 550 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้ว พร้อมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง

นายทองเปลว กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุดของปีว่า ในการระบายน้ำจะเร่งระบายน้ำผ่านทางลำน้ำสายหลัก เพื่อออกทะเลไปให้เร็วที่สุดแต่หากมีน้ำหลากมากจะพิจารณาตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่งในห้วงเวลาที่เหมาะสม โดยโครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งในปีที่แล้วประสบความสำเร็จในการตัดยอดน้ำหลากช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อีกทั้งน้ำที่เก็บไว้นั้นเกษตรกรสามารถนำไปใช้เพาะปลูกต่อในช่วงฤดูแล้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง